การมีส่วนร่วม เพื่อโลกที่เท่าเทียมของคนตาบอด
แม้ว่าสังคมไทยจะตระหนักถึงการให้ความสำคัญในการดูแล และพร้อมช่วยเหลือผู้พิการ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ตั้งแต่บริการสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร นอกจากไม่ได้มาตรฐาน ยังไม่เพียงพอต่อการใช้บริการ ที่สำคัญคือบางบริการมีข้อจำกัด เพราะสร้างเงื่อนไขการใช้งานโดยไม่จำเป็น ทำให้ผู้พิการจำนวนมากต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง ทั้งที่สามารถดูแลตัวเองได้ หากสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานนั้นมีความพร้อม
ปัญหานี้ไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่แน่นอนว่าตัวเลขผู้พิการในกลุ่มผู้สูงอายุก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยข้อมูลล่าสุดของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวบรวมจำนวนผู้พิการ จากฐานข้อมูลที่ผู้พิการมาทำบัตรประจำตัวคนพิการในประเทศไทย ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2566 พบว่ามีมากถึง 2,240,537 คน และจำนวนกว่าครึ่งหรือกว่า 1 ล้านคนเป็นผู้สูงวัย ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
สำหรับประเภทของคนพิการนั้น อันดับ 1 คือ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวร่างกาย จำนวน 1,155,339 คน รองลงมาคือ ผู้พิการทางการได้ยินจำนวน 415,999 คน และอันดับ 3 คือ ผู้พิการทางการมองเห็น 184,542 คน ส่วนผู้พิการประเภทอื่นๆ ยังมี เช่น ผู้พิการทางจิตใจ ผู้พิการทางสติปัญญา ผู้พิการทางการเรียนรู้ เป็นต้น
เรื่องราวของคนพิการในประเทศไทยนี้ สุนทร สุขชา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ได้บอกเล่ากับไทยรัฐออนไลน์ ที่ยังทำให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาที่ผู้พิการต้องเผชิญนั้น หลายเรื่องถูกเรียกร้องมาอย่างยาวนาน และยังคงอยู่อย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้พิการในการมองเห็น
ตามหาบริการสาธารณะที่ได้มาตรฐาน
สุนทร วัย 33 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการทางการมองเห็น ปัจจุบันมีงานประจำ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และยังมีงานที่ต้องเดินทางไปร่วมประชุมกับกลุ่มคนทำงานด้านต่างๆ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นผู้บรรยายในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อคนพิการ มีโอกาสเดินทางไปเป็นตัวแทนประชุมกับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ตัวของสุนทรเอง เจอความยากลำบากในการใช้ชีวิตนอกบ้าน จากการใช้บริการสาธารณะต่างๆ มากมาย รวมถึงได้รับการบอกเล่าระบายทุกข์จากเพื่อนกลุ่มผู้พิการด้วยกัน เช่น เมื่อผู้พิการทางสายตาเดินไปตามฟุตปาทที่มีเบรลล์บล็อก ที่เป็นกระเบื้องพื้นที่พิเศษบนฟุตปาทแผ่นสีเหลืองมีปุ่มหรือพื้นผิวพิเศษ แม้จะมีการวางตามแนวฟุตปาทส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานที่มีคุณภาพ หลายพื้นที่ปูเบรลล์บล็อกที่นำทางไปชนกับเสาไฟ หรือต้นไม้
สภาพของความสูงของฟุตปาทไม่ได้มาตรฐานกับพื้นถนน แต่ละที่ความสูงต่างกัน และไม่มีการเชื่อมต่อในแนวระนาบที่ปลอดภัย ทำให้ผู้พิการทางการมองเห็น และการเคลื่อนไหวของผู้ที่ใช้รถเข็นไม่สามารถใช้งานได้สะดวก และการเชื่อมต่อระหว่างถนนกับฟุตปาทที่ไม่ได้มาตรฐาน ยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้บริการรถเมล์ จนบางครั้งเกิดอุบัติเหตุได้
สำหรับการเดินทางข้ามถนนบนทางม้าลาย มักมีปัญหาที่ทางม้าลายส่วนใหญ่ สัญญาณไฟ ไม่ได้ติดตั้งระบบเสียง เพื่อบอกให้ผู้พิการในการมองเห็นได้ยินว่า สามารถข้ามถนนได้หรือไม่ได้ สิ่งที่ทางการไทยแก้ปัญหาคือการอำนวยความสะดวกให้รถยนต์มากกว่าคนใช้งาน เช่น การสร้างสะพานลอย ที่เอื้อให้รถยนต์วิ่งได้ต่อเนื่อง แต่ผู้พิการใช้งานได้ไม่สะดวก โดยเฉพาะผู้ต้องนั่งรถวีลแชร์ หรือรถเข็น หรือแม้แต่ผู้พิการทางสายตาก็ตาม
สุนทร เล่าอีกว่า ปัญหาทางด้านการเดินทาง ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นปัญหากับผู้พิการ อย่างเช่น รถไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังมีลิฟต์ไม่ครบทุกสถานี รถเมล์ไม่มีลิฟต์ยก หรือทางลาด (Low floor) สำหรับผู้พิการ หรือบางคันมีทางลาดแต่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับการใช้งานที่มีคุณภาพที่ดีพอ
ยังมีกรณีการเดินทางโดยสารเครื่องบิน มักถูกจำกัดจำนวนที่นั่งในการเดินทางต่อเที่ยวบิน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย อย่างที่ผู้พิการในการมองเห็นเคยเจอคือ ห้ามขึ้นเครื่องบินพร้อมกัน 8 คนในเที่ยวบินหนึ่ง แต่หลักเกณฑ์นี้ในบางครั้งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสายการบิน เพราะบางกรณีผู้พิการก็สามารถไปพร้อมกันได้เป็นจำนวนมาก อย่างการเดินทางไปแข่งขันกีฬาคนพิการ เป็นต้น
ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีพอ คือทำให้คนพิการมีต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูง เช่น การเดินทางที่ไม่สามารถไปโดยระบบขนส่งสาธารณะได้ แต่ต้องไปโดยรถแท็กซี่ หรือต้องมีคนดูแลประจำตัว
บริการที่พร้อมใช้ แต่ไม่มีสิทธิใช้
ไม่เพียงแต่การใช้บริการสาธารณะเท่านั้นที่ผู้พิการทางสายตาต้องเผชิญกับปัญหา แม้แต่สิทธิใช้บริการของภาคเอกชน ผู้พิการยังถูกจำกัดสิทธิด้วย เช่น การซื้อประกันอุบัติเหตุและประกันชีวิต ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถจะซื้อได้เลย เนื่องจากบริษัทผู้รับทำประกันมองว่ากลุ่มผู้พิการทางสายตาคือผู้ทุพพลภาพ
“ทุกวันนี้ คนพิการทางสายตาโดนจำกัดสิทธิเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากถูกปฏิเสธไม่รับทำประกัน เพราะมองว่าเป็นคนทุพลภาพ ซึ่งในความจริงแล้ว บริษัทเดียวกันในต่างประเทศ ผู้พิการทางสายตาสามารถทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุได้ แต่บริษัทสาขาในไทยกลับปฏิเสธ ถือเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง แต่การทำประกันสุขภาพเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะเริ่มให้คนพิการทางสายตาทำประกันสุขภาพได้บ้าง
หรือแม้แต่การทำธุรกรรมทางด้านการเงิน ก็นับว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนตาบอดไม่น้อย โดยเฉพาะการต้องสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างเช่น การโอนเงินที่มากกว่า 50,000 บาท ซึ่งลักษณะความบกพร่องทางสายตา ของผู้พิการทางสายตาของแต่ละคน จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน ทำให้บางคนไม่สามารถสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนได้ ปัจจุบันมีเพียงบางธนาคารที่มีข้อยกเว้นในบางกรณีสำหรับคนที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าได้ และใช้วิธีการยืนยันตัวตนด้วยการโทรศัพท์เข้าไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารแทน
มาตรการช่วยเหลือก็มี แต่เงื่อนไขมีมากกว่า
ปัจจุบันคนพิการ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องเงินคือ เบี้ยคนพิการสำหรับ เด็ก และผู้สูงอายุที่มีบัตรคนพิการจะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท ส่วนผู้พิการที่มีอายุ 18-60 ปีจะได้รับเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท
นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดหลักการไว้ว่า สิ่งที่เป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวันของคนพิการต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็พบว่า บางคนมีความจำเป็นต้องได้รับอุปกรณ์พิเศษ กลับพบปัญหาคือ คนพิการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านั้นยาก หรือต้องใช้ระยะเวลานาน เช่น ในอดีตการยืมอุปกรณ์ไอที ในยุคหนึ่งที่มีการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แต่พบปัญหาขั้นตอนของระบบราชการล่าช้า ทำให้กว่าจะได้อุปกรณ์มาใช้งานอุปกรณ์ไอทีนั้นก็ตกรุ่นไปแล้ว
แม้แต่สวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่าเช่าบ้านหรือค่าปรับปรุงสภาพแวดล้อมบ้าน เพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวก อย่างการปรับทางลาด การติดตั้งราวจับ ที่มีงบประมาณให้อัตรา 40,000-60,000 บาทต่อราย แต่การจะของบประมาณดังกล่าวไม่ได้ง่าย และมีความล่าช้า รวมถึงการขอกู้เงินเพื่อการประกอบอาชีพ โดยไม่มีดอกเบี้ย ที่ผู้พิการสามารถขอได้ภายใต้วงเงิน 60,000-120,000 บาท ก็พบปัญหาคณะอนุกรรมการส่งเสริมคนพิการ ที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติสำหรับการให้สินเชื่อคนพิการ ไม่มีความเชื่อมั่นต่อตัวผู้พิการ ส่งผลให้ไม่มีการปล่อยกู้ หรือหากปล่อยกู้ได้ ผู้พิการก็ได้วงเงินที่น้อยกว่าที่ต้องการ เป็นต้น
รอวันที่เท่ากัน กับสิทธิทางการเมือง
นอกเหนือจากการใช้บริการสาธารณะ และสิทธิขั้นพื้นฐานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี 2540 ยังให้สิทธิแก่ผู้พิการ ในการมีผู้แทนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของคนพิการ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมาย แต่ในด้านการปฏิบัติจริงยังพบว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมของคนพิการในเรื่องดังกล่าวยังน้อยมาก จนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีเลยก็ว่าได้ จึงทำให้เวลาที่ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน หรือสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้ตรงกับความต้องการของผู้พิการอย่างแท้จริง เพราะไม่เข้าใจความต้องการอย่างถูกต้อง
แม้แต่สิทธิทางด้านการเมือง ในฐานะพลเมืองของประเทศ อย่างการออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง สส. ที่คนพิการโดยเฉพาะคนตาบอดยังพบอุปสรรคในบางคูหาเลือกตั้ง เช่น การจัดทำบัตรเลือกตั้ง ที่เป็นอักษรเบรลล์ ที่บางครั้งพบว่าตัวอักษรเบรลล์หมายเลขกับช่องกาหมายเลขผู้สมัครไม่ตรงกัน ทำให้ผู้พิการต้องแก้ไขปัญหาด้วยการนับช่องที่จะกาเลือกผู้สมัครตามหมายเลขที่ต้องการแทน และยังพบว่าบัตรอักษรเบรลล์ไม่ได้มีทุกหน่วยเลือกตั้งอีกด้วย
“ตามกฎหมายกำหนดให้การจัดหน่วยเลือกตั้ง ต้องให้ผู้พิการสามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ด้วยตนเอง ถ้าเข้าไปใช้สิทธิไม่ได้ ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้สิทธิแทนได้ ภายใต้ความประสงค์ของผู้พิการนั้น รวมถึงการจัดหน่วยเลือกตั้ง ต้องมีทางลาดเพื่อรถวีลแชร์ มีอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด แต่ก็พบปัญหาอักษรเบรลล์ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำเสนอแนวทางแก้ไข ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นเครื่องลงคะแนนเสียงอัตโนมัติ ซึ่งมีข้อดีคือใช้ได้ทุกคน และยังรู้ผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ด้วย แต่ความคิดดังกล่าวไม่ถูกนำไปปฏิบัติ”
นอกจากนี้ ยังพบว่า การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนทางด้านการเมือง อย่างการกำหนดให้มีบัตรอักษรเบรลล์นั้น มีเฉพาะการเลือกตั้งระดับประเทศ อย่างการเลือก สส.เท่านั้น หากเป็นการเลือกตั้งอื่น หรือระดับการเมืองท้องถิ่น จะไม่มีบัตรเลือกตั้งอักษรเบรลล์
การมีส่วนร่วม และช่วยเหลืออย่างเข้าใจ และถูกต้อง
อุปสรรค และปัญหาที่ผู้พิการต้องเผชิญ แต่แก้ปัญหาไม่ตรงจุดนี้ สุนทร ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งเพราะผู้พิการไม่มีส่วนร่วมในการคิด ออกแบบ วางแผน และการกำหนดนโยบายก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก ก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทำให้บริการสาธารณะที่ถูกสร้างออกมา มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้พิการ ลดปัญหาที่จะตามมาภายหลังได้
ส่วนคนในสังคมหากพบเจอผู้พิการ โดยเฉพาะผู้พิการในการมองเห็นและอยากให้ความช่วยเหลือ มีขั้นตอนที่แนะนำเรื่องการให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้อง ดังนี้
เริ่มจากความเข้าใจที่ว่า ผู้พิการทางสายตา แม้จะเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย แต่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ และไม่ได้ต้องการให้คนในสังคมมองเห็นเขาแตกต่างหรือแปลกแยก แต่ต้องการความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน
เมื่อเข้าใจแล้ว การเข้าไปให้ความช่วยเหลือ จึงควรเริ่มด้วยการถามว่าอยากให้ช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกอะไร ด้านไหน หรือไม่ โดยใช้หลังมือแตะหลังมือมือของผู้พิการทางสายตา ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สุภาพ และไม่ทำให้ผู้พิการทางสายตาตกใจ หลายคนแตะไหล่ หรือจับข้อมือ จับข้อศอกซึ่งเป็นอาจทำให้เกิดความตกใจได้
เหตุผลที่ต้องสอบถาม เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในสภาพแวดล้อมหรือบางพื้นที่ที่ผู้พิการทางสายตาคุ้นเคย ก็สามารถช่วยเหลือตนเองได้เหมือนคนปกติทั่วไป
“การช่วยเหลือคนตาบอดนั้น ต้องเป็นไปตามความต้องการ ด้วยเหตุและผลที่เหมาะสม บางครั้งความช่วยเหลือนั้นมันเกินความต้องการของเขา ก็ทำให้คนตาบอดอึดอัดใจ หากต้องการพูดคุยกับคนตาบอด ก็สามารถสื่อสารกับเขาได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านบุคคลที่ 3”
หากผู้พิการทางสายตาต้องการให้นำทาง ควรให้คนตาบอดจับข้อศอกของคนที่จะเดินนำทาง และอาจจะบอกลักษณะของพื้นที่ด้วยก็ได้ว่าเป็นอย่างไร กรณีพื้นที่เป็นทางแคบ ให้ผู้นำทางเอามือไพล่หลังของตนเอง เพื่อส่งสัญญาณให้คนตาบอดรู้ว่าข้างหน้าเป็นทางแคบ ซึ่งคนตาบอดก็จะเดินในลักษณะแถวตอนต่อจากผู้นำทาง หรือหากมีหลายคนก็จะจับข้อศอกที่ไพล่หลังเรียงกันไป
สาเหตุที่จับข้อศอก เพราะเมื่อแขนและข้อศอกจะมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เมื่อเดิน หยุด หรือก้าวขึ้นบันได ที่เป็นการสื่อสารในการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใจได้
แอปพลิเคชัน ช่วยคนตาบอดใช้ชีวิตง่ายขึ้น
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้มีแอปพลิเคชันใหม่ๆ สำหรับผู้พิการทางสายตาใช้งาน ทั้งสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน และความบันเทิง ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน บี มาย อายส์ (Be My Eyes) แอปพลิเคชันช่วยการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้วิดีโอคอล กับอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น บรรยายรูปภาพ อ่านข้อความ อ่านป้ายฉลาก หรือการอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง เมื่อผู้พิการทางสายตา ต้องการความช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน จะมีการส่งการแจ้งเตือนไปยังอาสาสมัครหลายๆ คน เพื่อจับคู่ระหว่างอาสาสมัครที่มีสายตาปกติกับคนพิการ โดยใช้เกณฑ์จากภาษาที่ใช้และเขตเวลาที่ทั้งคู่อาศัยอยู่ อาสาสมัครคนแรกที่ตอบรับคำขอ จะถูกเชื่อมต่อกับผู้ขอความช่วยเหลือ และได้รับวิดีโอคอลจากกล้องหลังของผู้ขอความช่วยเหลือ เพื่อดำเนินการช่วยกันแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
เอ็นวิชั่น (Envision) แอปพลิเคชัน บอกสภาพแวดล้อมรอบตัว ที่ช่วยให้สามารถรับรู้ถึงวัตถุ สิ่งของหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ ผ่านการใช้กล้องในโทรศัพท์ ถ่ายภาพหรือสแกนข้อความ สภาพแวดล้อม วัตถุ ผู้คน หรือผลิตภัณฑ์ ประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (AI) แล้วสื่อสารออกมาเป็นเสียงที่บรรยายอย่างละเอียด
ตัวอย่างของแอปพลิเคชันเหล่านี้ นับเป็นสัญญาณที่ดี ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้พิการทางสายตา นอกเหนือจากนี้ สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือความเข้าใจ อย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม
ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/lifestyle/calendar/2749823