สปสช. เพิ่มหน่วยบริการ "บัตรทอง" ดูแลเด็กพิการ เริ่ม เม.ย. นี้
บอร์ด สปสช. รับทราบเพิ่มศูนย์บริการคนพิการทั่วไปและศูนย์บริการคนพิการอื่นกรณีนวดไทยเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ เป็นหน่วยบริการ บัตรทอง ตามมาตรา 3 เพื่อดูแลเด็กพิการเข้าถึงบริการนวดไทยเพื่อการฟื้นฟูกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง เริ่ม เม.ย. นี้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิและบริการกับประชากรทุกกลุ่ม จำเป็นต้องมีหน่วยบริการเพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยในระบบ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ได้มีการพิจารณาและรับทราบ "การกำหนดให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปและศูนย์บริการคนพิการอื่น เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กรณีการนวดไทยเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ" ซึ่งนำเสนอโดย ผศ.สุธี สุขสุเดช ประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข สปสช. และ นางสาวนงลักษณ์ ยอดมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เนื่องจากเราต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการนวดไทย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการมากขึ้น และให้เด็กพิการได้รับการฟื้นฟูกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ
เมื่อปี 2562 บอร์ด สปสช. จึงได้มีมติกำหนดให้ศูนย์บริการคนพิการคนทั่วไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้การรับรอง และศูนย์บริการคนพิการอื่น ๆ ที่เข้าเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการมาตรา 3 กรณีการนวดไทย เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ และ สปสช. ในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติการนวดไทยเพื่อการฟื้นฟูเด็กพิการ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานบริการที่องค์กรภาคประชาสังคมสามารถใช้บริการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการด้วยการนวดไทยได้อย่างปลอดภัย เพื่อเติมเต็มระบบบริการสำหรับเด็กพิการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
สำหรับการให้บริการหน่วยบริการตามมาตรา 3 นี้ จะครอบคลุมเด็กพิการทุกประเภทที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ หรือเด็กพิการที่ผ่านการประเมินจากสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องให้ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายด้วยการนวดไทยตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงได้รับความยินยอมจากพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือ ผู้ดูแล
ส่วนกรอบการจัดบริการของศูนย์ฯ นั้น ผู้ให้บริการจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรนวดไทยเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ หรือหลักสูตรการนวดไทยจากสถาบันหรือสถานพยาบาลซึ่งได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดความรู้สำหรับฝึกอบรมในวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 หรือหลักสูตรการนวดไทยที่เกี่ยวข้องหรือเทียบได้กับขงกรมการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. รับรอง
นอกจากนี้องค์กรของภาคประชาชนที่มีศักยภาพในการให้บริการนวดไทยเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการจะได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดบริการ ตามมาตรฐานที่กรมแพทย์แผนไทยฯ กำหนด
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องผลกระทบทางงบประมาณและแหล่งงบประมาณ ในปี 2567 นี้จะเป็นปีแรกที่ศูนย์บริการคนพิการคนทั่วไปให้บริการในฐานะหน่วยบริการตามมาตรา 3 โดย สปสช. ได้เตรียมงบประมาณสำหรับเป็นค่าบริการนวดไทยเพื่อฟื้นฟูเด็กพิการ
คาดว่า ในปี 2567 นี้จะมีหน่วยบริการดังกล่าวให้บริการจำนวน 3 แห่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.06 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จากงบบริการการแพทย์แผนไทย ปี 2567 ที่เป็นรูปแบบวงเงินแบบมีเพดาน การให้บริการในส่วนนี้จึงไม่มีผลกระทบทางงบประมาณ
ส่วนในปีถัดไป สปสช. จะมีหน้าที่ขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมหลายพื้นที่มากขึ้นต่อไป เพื่อให้ประชาชนที่เข้าเกณฑ์สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้นและลดภาระและความแออัดให้หน่วยบริการที่จัดบริการในลักษณะนี้ เลขาธิการ สปสช. กล่าว