‘ฉันทำได้’ มาตรฐานใหม่โลก เชื่อมั่นคนพิการ ‘ทำได้ทุกอย่าง’
ในการปลุกศักยภาพบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการในสังคมไทยและทั่วโลก โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทั้งในและต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และศึกษาวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ในการอยู่ร่วมและดูแลคุณภาพชีวิตของพวกเขา
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับเครือข่ายก้าวไปด้วยกัน
จัดแถลงข่าวโครงการประชุมนานาชาติการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย “ฉันทำได้” The Asian Congress for People with Special Needs “I am able.” ณ ห้องประชุมอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
“โทมัส เคราส์” นักสังคมบำบัดชาวเยอรมัน ผู้ริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2541 และได้ขยายการประชุมสภาคนพิเศษไปยังนานาประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย สำหรับประเทศไทย การประชุมนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 ภายใต้ชื่อ “ก้าวไปด้วยกัน” หลังจากนั้น มีการจัดประชุมสภาคนพิเศษในประเทศไทยขึ้นทุก 2 ปี
โดยในปี 2567 การประชุมครั้งนี้จะขยายขอบเขตจากประเทศไทยไปเป็นการประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 และขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ผู้พิการทุกประเภทและผู้ต้องการการสนับสนุนทางจิตใจ เพื่อเข้าสู่สุขภาวะองค์รวมเช่นกัน
โทมัส เคราส์ กล่าวว่า การประชุมสภาคนพิเศษแห่งเอเชียในประเทศไทย ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม 8 ประเทศ ถือว่าเป็นการจัดงานที่ประสบความสำเร็จ และผมอยากจะดูว่าการจัดงานนี้มันมีความหมาย และสร้างผลกระทบอย่างไรต่อสังคม โดยการจัดงานครั้งนี้มีการวางแผนมานานกว่า 5 ปี ซึ่งมีอุปสรรคมากมาย และเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การที่ผู้คนสามารถมาอยู่ตรงนี้ได้ก็ถือว่า ‘เราทำได้ ทุกคนทำได้’
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ามีการพบปะกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ผมหวังว่างานครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ
ในเรื่องความเคลื่อนไหวในการสร้างคุณภาพชีวิต และการงานอาชีพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ
ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเข้าสู่กระบวนการเป็นผู้ใหญ่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเรื่องของการงาน เพื่อที่จะทำให้คนพิเศษเข้าสู่กระบวนการทำงานได้ ซึ่งในปัจจุบันมีภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกันในส่วนนี้เยอะมากขึ้น ปัจจุบันสถานประกอบการมีการเปิดใจและเปิดกว้างในการรับบุคคลเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการทำงานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การบริการต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นมิติที่ใหม่มาก และไม่ใช่แค่การเปิดรับสมัคร
แต่จะมีกระบวนการตั้งแต่อบรมครู พี่เลี้ยง ที่จะเข้าใจบุคคลเหล่านี้ว่าถ้าทำงานแล้วจะมีข้อจำกัดอะไรบ้าง และที่สำคัญจากที่ได้ร่วมมือกับ global business และบริษัทหลายๆ ที่ ทำให้รู้สึกว่าเขามองที่ศักยภาพในการทำงาน มากกว่าการมองว่าเป็นบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ
“ต้องชื่นชมภาคเอกชน ที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ในการมีนโยบายรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ เนื่องด้วยประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษ โดยกำหนดให้บริษัทใหญ่ๆ ที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน แต่ถ้าบริษัทหาคนพิการไม่ได้ ก็จะนำเงินที่เท่ากับจ้างคนพิการไปมอบให้กองทุน ซึ่งช่วยให้กองทุนสำหรับคนพิการเติบโตขึ้น แต่บุคคลเหล่านี้ก็จะยังคงว่างงานอยู่ ซึ่งกองทุนนี้จะต้องสร้างสิ่งที่เป็นแรงกระเพื่อม เช่น การทำให้บริษัทต่างๆ ได้รับรู้ว่าพวกเขาอยู่ตรงนี้ หรือมีที่ให้กับพวกเขาสำหรับการสำเร็จการศึกษา”
ผศ.ดร.ชนิศา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันต้องชี้ว่าข้อมูลจากสถิติที่จดทะเบียนของคนพิการยังน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้สวัสดิการที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ทัศนคติของคนในสังคมยังต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้รับรู้ว่าบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการมีจำนวนมากและควรที่จะเตรียมสวัสดิการให้พร้อมสำหรับบุคคลเหล่านี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมผู้พิการมานานมากแล้ว แต่ว่าบุคคลเหล่านี้ยังไม่กล้าแสดงตัวออกมา เพราะมีการตีตราทางสังคม ซึ่งสังคมต้องร่วมกันเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้
ขณะที่เทรนด์ในโลกปัจจุบันนี้ คือ การที่บริษัท หรือองค์กรระดับโลกให้ความสำคัญกับความหลากหลายในการทำงาน โดยรวมถึงบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ โดยไม่เลือกปฏิบัติและใช้คำว่า “ความหลากหลาย” แทนคำว่า “คนพิการ” ซึ่งเป็นการอัพเกรดบริษัทและสามารถทำได้ดี
“โดยศักยภาพและการจ้างงานบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและคนพิการ นำมาสู่คำว่า ‘ฉันทำได้’ สิ่งหนึ่งที่เน้นย้ำเลยคือ คำว่า ‘ฉัน’ ต้องมาจากเขา พอมาจากเขา ในแววตา ในสิ่งที่เขามั่นใจ ซึ่งจะทำให้เขาบอกโลกว่า ‘ฉันทำงานได้นะ ฉันทำได้ทุกอย่างเหมือนที่คนอื่นๆ ทำได้ และไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่คิดว่าฉันทำงานไม่ได้’ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความคิดและทัศนคติใหม่ การจัดงานนี้ขึ้นมา คือ การให้สังคมได้เห็นว่ามีผู้คนที่สามารถทำได้เยอะมาก และไม่ว่าจะหน่วยงานไหนๆ ก็สามารถจ้างงานคนพิการได้ นี่คือมาตรฐานใหม่ของโลกเรา” ผศ.ดร.ชนิศา กล่าว
ปรับมายด์เซ็ทใหม่ คนพิการทำได้ทุกอย่าง
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4456129