ผู้พิการ โอด ‘มันต่างกันฟ้ากับเหว’ เสียค่าแท็กซี่วันละ 300 ตจว.ไม่มีรถไฟ-ในกทม.ไม่มีที่แบบนี้
เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ C asean Samyarn CO-OP ชั้น 2 สามย่าน มิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือข่ายผู้จัดงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในเอเชีย จัดงานเสวนา SX Talk Series #2 ในหัวข้อ ‘เมืองของทุกคน : เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน’
โดยมีนักวิชาการ นักออกแบบ พร้อมทั้งนักพัฒนาเมืองและชุมชน มาร่วมกระตุกต่อมคิด แลกเปลี่ยน หนทาง เพื่อร่วมสร้างเมืองสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ได้แก่ นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ “จ้างวานข้า” มูลนิธิกระจกเงา, ผศ.ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และกลุ่มมนุษย์ปากคลองฯ, นายไพทยา บัญชากิติคุณ ATOM Design: Founder และอุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์, นายสว่าง ศรีสม ประธานฝ่ายแผนงานและโครงการภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (Transportation for All, T4A) และ ดร.ทรงวาด สุขเมืองมา ฝ่ายพัฒนาเนื้อหาและธุรกิจ นิตยสารบ้านและสวน
เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเสวนา วิทยากรต่างร่วมเจาะลึกกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ อาทิ “สดชื่นสถาน” สถานีเติมความสดชื่นให้คนไร้บ้านโดยมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งให้บริการห้องน้ำ ซักผ้า และน้ำดื่มสะอาด, “อัศจรรย์เมืองน่าอยู่” เพราะเมืองที่น่าอยู่ต่างจากเมืองที่อยู่ได้ และการออกแบบฟื้นฟูย่านชุมชน สู่การปลดล็อกเพิ่มศักยภาพเมือง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อต่อยอดผลลัพธ์
เมื่อถามว่า ปัจจุบันเมืองยังไม่ลงตัว ยังมีอะไรอีกบ้างที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ จากใจส่วนตัว?
นายสว่าง ประธานฝ่ายแผนงานและโครงการภาคีเครือข่าย Transportation for All กล่าวว่า สิ่งที่คาดหวัง เราอยากได้เมืองที่เดินก็ได้ นั่งรถเข็นก็ได้ ไปไหนมาไหนได้สะดวก ความสนใจเกิดจากความบังเอิญที่ กทม.ในปี 2542 มีการรวมตัวเรียกร้องมห้มีสิ่งอำนวยความสะดวกใน กทม. แต่เราคิดว่าคงไม่พอ เราจึงพยายามไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา ผู้พิการขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้ ขึ้นแท็กซี่ทีก็หลายร้อย บาท เวลาจะไปทำงานเปลืองค่าใช้จ่าย ขอสายใหม่ที่ใช่ได้ ก็รอนานถึง 10-20 ปี จึงขึ้นได้เกือบทุกสถานีแล้ว
“แต่ก็ต้องบอกว่า มันไม่ง่าย เราจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม ก็ต้องเจรจาจนได้มา ทำให้เราเห็นคุณค่าของความพยายาม พอได้รถไฟฟ้าแล้ว จะใช้งานก็ต้องออกจากบ้านไปสถานี ไปตลาด ชุมชน ก็กลับมาสู่ปัญหาเดิม คือทางเท้า ทางข้ามถนน ที่ผ่านมาเห็นทางเท้าที่ดีอยู่ 3 เส้นคือราชดำริ สยาม และสีลม ในรอบ 20 ปีมานี้
ส่วนอื่นๆ จะเป็นทางเท้าที่คนไม่ค่อยเดิน แคบ สิ่งกีดขวางเยอะ รถวิ่งเร็วเสี่ยงรถชน ทางม้าลายก็มีน้อย แล้วเศรษฐกิจชุมชนจะเป็นอย่างไร เมื่อทางเท้าไม่มีคนเดิน ไม่มีคนออกมาใช้ชีวิต” นายสว่างชี้
นายสว่างกล่าวต่อว่า พอเราจะไปไหนมาไหน ก็เจอสิ่งกีดขวาง เป็นปัญหาที่เจอมาตลอด ทำให้การใช้ชีวิตของคนที่มีข้อจำกัด เป็นไปอย่างยากลำบาก ที่เราไม่รู้ตัว คือ ‘ปัญหาเมืองที่รถยนต์สำคัญสุด’
เป็นเพนพอยต์ที่อยากเห็น เพราะเราอยากดูแลตัวเองได้ ออกมาทำงานใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอยได้เหมือนคนทั่วไป โดยที่ไม่ต้องให้พ่อแม่มาดูแล
“ทางเท้าแบบนี้ สำหรับคนทั่วไปอาจจะพอไปได้ แต่สำหรับผม ทำไม่ได้ เป็นอีกเรื่องที่ทางกลุ่ม หันมาให้ความสำคัญกับทางเท้า ที่จะต้องแก้ปัญหา ลดความเป็น ‘เมืองรถยนต์’ ให้เป็นเมืองสำหรับทุกคนมากขึ้น” นายสว่างกล่าว
ส่วนตัวมองว่า เมืองที่ดี ทางเท้าที่ดี เป็นสิทธิพื้นฐานมี่ทุกคนควรได้รับ ?
นายสว่างเผยว่า ทุกคนอาจจะได้มาโดย ไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับเรา take it for granted ไม่ได้ ในเมื่อพิการแบบนี้
เมื่อถามว่า ในช่วงที่ต่อสู้ เริ่มอย่างไร มีใครคอยช่วยบ้างในกระบวนการ ซึ่งไม่ได้ง่ายเลย ?
นายสว่างกล่าวว่า ต้องย้อนกลับไป กระบวนการทำงาน ตนเข้ามาทำงานที่ กทม.เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ต้องเรียกแท็กซี่ไปทำงาน เฉพาะค่าแท็กซี่ก็วันละเกือบ 300 บาท เราต้องมีอย่างน้อย 500 บาท/วัน เพื่อกินข้าวได้
“ก็รู้สึกว่าไม่มีเงินเก็บเลย ลำบากมาก ถามเพื่อนที่ทำงาน ว่าเดินทางใช้เงินเท่าไหร่ เขาบอกนั่งรถเมล์ 20 บาท ซึ่ง 20 กับ 300 มันต่างกันฟ้ากับเหว” นายสว่าง กล่าวและว่า
จนเริ่มมีการนัดคุย เมื่อคุยไม่รู้เรื่อง ก็ลงถนนดีกว่า ตอนนั้นเราแค่อยากไปเป็นเสียงเล็กๆ แค่อยากช่วยเพื่อนๆ เป็นสิทธิทั่วไปทำอยู่หลายปี
“ท้อนะ เจรจาก็แล้ว จะฟ้องศาลปกครองก็แล้ว แต่แพ้ เขาบอกว่า ตอนก่อสร้างกฎหมายคนพิการไม่มี ก็ต้องต่อสู้ จนขออุทธรณ์ ใช้เวลาเป็น 10 ปี จนได้ใช้จริงๆ จาก 42 เป็น 62 ที่เห็นลิฟต์ บนรถไฟฟ้า ไม่ได้มาง่ายๆ ต้องต่อสู้
เราได้เรียนรู้ จากเพื่อนในต่างประเทศ ศึกษา อเมริกา ญี่ปุ่นที่ใหญ่ๆ เขาก็ทำ เขาบอกเราว่า ‘อย่าหยุด ถ้าพูดแล้วไม่ทำ ก็พูดต่อไป’ ใช้วิธีการอย่างนี้ ตอนนี้ถามว่าดีขึ้นไหม ดีขึ้นจากเมื่อก่อน ค่าเดินทางเดือนละเกือบหมื่น จนตอนนี้ได้ขึ้นฟรี ” นายสว่างกล่าว
นายสว่างกล่าวต่อว่า เห็นน้องๆ คนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาทำงานใน กทม.ก็ดีใจมากที่นั่งรถไฟฟ้า นั่งรถเมล์ไปทำงาน
“เราต่อสู้ไม่หยุด เลยดีใจตรงนี้ เขาได้ไปทำงานด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดน้อยลง คือการต่อสู้ที่พยายามผลักดัน เรื่องขนส่งสาธารณะ”
เมื่อถามว่า ทำงานกับหน่วยงานไหนบ้าง ถ้าหากน้องๆ คนรุ่นใหม่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ต้องทำอย่างไร ?
นายสว่างกล่าวว่า หน่วยงานของตรทำหลากหลาย อย่างบีทีเอส มี กทม. ร่วมดูแลรับผิดชอบกับภาคเอกชน ในการเดินรถ ส่วนขนส่งอื่นๆ จะเป็น คมนาคม อาจจะ รฟม. บ้าง หรือรถเมล์ ก็ ขสมก.มีหลายหน่วนงาน ที่ผ่านมาใช้วิธีเจาะเข้าไปเป็นหน่วยงาน เช่น คุยกับกระทรวงคมนาคม มหาดไทย และ พม. บ้าง
ต้องบอกว่าที่ผ่านมา มีน้องๆ ติดต่อเข้ามายัง ภาคีเครือข่ายค่อนข้างเยอะ ถ้าเราสามารถเสนอสภาพปัญหาผ่านงานวิจัย หรือโครงการอย่างชัดเจน ให้นักศึกษาที่สนใจ มีข้อมูลไปทำงานต่อกับภาครัฐต่อไป
“เพราะที่ผ่านมา มันไม่มีงานวิจัย ในอนาคตอาจจะต้อองสู้เรื่องนี้เยอะขึ้น รวมถึงอาสาสมัครที่เข้ามาฝึก วิธีการเข็นรถเข็น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำให้คนในสังคมมีความรู้” นายสว่างระบุ
เมื่อถามว่า มองพื้นที่สำหรับคนไทย พฤติกรรม ความขอบแบบเรา อะไรสำคัญสุดสำหรับคนไทย การออกแบบควรจะเป็นแบบไหน ?
นายสว่างกล่าวว่า ตนนึกถึงตัวเองตอนเด็ก อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ รู้จักกันหมด ไปมาหาสู่กัน เด็กๆ มีที่วิ่งเล่น โดยไม่กลัวว่าจะมีอันตราย มันคือคุณภาพชีวิตที่ดี
“แต่พอมากรุงเทพฯ รู้สึกว่า มันไม่มีพื้นที่แบบนั้น จะข้ามถนนก็กลัวตาย เคยเกือบจะโดนรถชนกลางถนนมาแล้ว เพราะนั่งวีลแชร์ มันเตี้ย เขามองไม่เห็น แค่อยากข้ามถนนง่ายๆ ไม่ต้องใช้ชีวิตซับซ้อน หรือต้องใช้รถยนต์ตลอดเวลา มา รพ. อยากกินก๋วยเตี๋ยว ต้องนั่งแท็กซี่ให้มาส่งอีกฝั่ง เพราะกลัวรถชน
ในต่างจังหวัด รถไฟฟ้า รถเมล์ก็ไม่มีขึ้น ทางเท้าก็แย่มาก เขาจะมีสิ่งที่ดีขึ้นได้อย่างไร เราจึงต้องพัฒนา ‘ โครงการพัฒนาแกนนำเมืองที่ไม่ทิ้งใคร ‘ เช่นในเชียงใหม่ ไปสำรวจพัทยากลาง ท่าน้ำนนท์ ว่าจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งตอนนี้กำลังเริ่มใน 40 จังหวัด อยากฝากไว้” นายสว่างกล่าว
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4548286