โมเดล จ.แพร่ ต้นแบบแก้ภัยแล้ง

โมเดล จ.แพร่ ต้นแบบแก้ภัยแล้ง

ไทยรัฐออนไลน์ 12 ก.พ.2556

วันนี้ต้องบอกว่าสถานการณ์เรื่องภัยแล้งดูจะน่ากลัวกว่าที่คิด

ในภูมิภาคหลายจังหวัดทาง ภาคเหนือ และ อีสาน กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก

เพราะขาดน้ำเพื่อการเกษตร

แม่น้ำหลายสายที่เคยเจิ่งนอง ล้นตลิ่งและเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในช่วงหน้าฝน วันนี้เหือดแห้ง เหลือเห็นเป็นสันดอนอยู่กลางลำน้ำ หรือบางช่วงบางตอนเดินข้ามได้เลย

ไปดูได้ที่ สิงห์บุรี และ อ่างทอง หาดทรายโผล่ขึ้นแพร่กว้างหลายจุด แม้การเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าในช่วง จ.พระนครศรีอยุธยา–อ่างทอง ยังมีปัญหา

เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท จำเป็นต้องปล่อยน้ำเพิ่มมากขึ้นเพื่อ

ให้ระดับใน แม่น้ำเจ้าพระยา มีมากพอที่จะให้เรือสินค้าแล่นผ่านได้

นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆที่เกิดขึ้นในภาคกลาง เพียงแต่การทำการเกษตรได้รับผลกระทบไม่มากนักเพราะมีระบบชลประทานที่ดีเยี่ยม

แต่ในภาคเหนือและอีสาน ปิดฉากรูดม่านไปตั้งแต่ธันวาคมแล้วครับ!!

วันก่อนผมได้คุยกับ คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผวจ.แพร่ ถึงเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น และ เรื่องปัญหาน้ำท่วม

บทส่งท้ายที่คุยกัน ท่านผู้ว่าฯอภิชาติ บอกว่า คนแพร่ ไม่กลัวน้ำท่วม เพราะมาเดี๋ยวก็ไป แต่เรื่องภัยแล้งน่ากลัวมาก เพราะอยู่นานหลายเดือน รายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรจะลำบากมาก

แต่สิ่งหนึ่งที่คนแพร่วันนี้ภูมิใจและเป็นเสมือนต้นแบบ ที่คนในจังหวัดอื่นๆทางภาคเหนือจะใช้เป็นโมเดลในการแก้ไขขาดน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง

คือการรวมพลังชาวบ้านและราชการสร้างฝายขวางกั้นลำน้ำ เพื่อทดน้ำเพื่อการเกษตร

เรียกกันว่าโมเดลจังหวัดแพร่

ท่านผู้ว่าฯอภิชาติ เล่าว่า เรื่องนี้เป็นการลองผิดลองถูกมานานหลายปี

และการลองครั้งล่าสุดถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ด้วยการที่ ผู้ว่าฯ นำงบแก้ปัญหาภัยแล้ง ประมาณ 6–7 ล้านบาท มาสร้างแหล่งน้ำการเกษตร

ด้วยการกั้นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม

ราชการให้เงินค่างบทรายและกระสอบ แต่ชาวบ้านออกแรง ร่วมกันทำกระสอบทรายแล้วนำไปกัก กั้นน้ำ สูงประมาณ 1.5 เมตร ประเภทเดียวกับฝายน้ำล้น แต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยเริ่มทำตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม

วันนี้ลำน้ำสาขาที่ถูกกั้นกักที่ บริเวณดอยผี หรือ แม่น้ำหล่าย แม่สาย และลำน้ำแม่พวก ปริมาณน้ำสูงขึ้น เครื่องสูบน้ำสามารถสูบน้ำเข้าแหล่งการเกษตรได้

ส่วนตอนล่างในลำน้ำยมจังหวัดแพร่มีเครื่องสูบน้ำถาวรอีก 34 จุด โดยค่าไฟราชการออกเงิน 60 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้าน 40 เปอร์เซ็นต์

จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 8 แสนไร่และสามารถทำการได้ในช่วงหน้าแล้งแค่ 2 แสนไร่ และจะได้ผลแค่ไหนไม่รู้ อยู่ที่เทวดาจะช่วยเรื่องน้ำฝน

แต่วันนี้ทั้ง 2 แสนไร่ไม่มีปัญหา แถมยังได้พื้นที่การเกษตรเพิ่มมาอีก 1 แสนไร่

รวมทั้งหมด 3 แสนไร่!!!

นี่คือผลของการร่วมแรงร่วมใจของราชการกับชาวบ้าน

และ รางวัลระดับชาติ สาขานวัตกรรมการให้บริการการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ ปี 2554 ของสำนักงาน กพร. รวมถึงรางวัลที่หนึ่งระดับโลก ของยูเอ็น ประเภทการสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย โนโซนเอเชียแปซิฟิก

คือคำตอบว่าจังหวัดแพร่ เดินมาถูกทางแล้วกับการสู้ภัยแล้ง

เขื่อนแก่งเสือเต้นจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต

แต่ภัยแล้งมาแล้ว และลามระบาดไปทั่วหลายจังหวัดภาคเหนือภาคอีสาน

โมเดลจังหวัดแพร่

ต้นแบบจังหวัดอื่นๆที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เงิน 6-7 ล้านบาทที่หลวงยอมจ่าย แต่แลกกับพื้นที่การเกษตรที่ได้มา ผมว่าคุ้มนะครับ!!!

ลม ตะวันตก

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
วันที่โพสต์: 12/02/2556 เวลา 03:43:25