กรธ.แจงหน้าที่ศาลรธน.

กรธ.แจงหน้าที่ศาลรธน.

โฆษกกรธ. แจง หน้าที่ศาลรธน. เปิดช่องให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องมีข้อพิพาท สร้างเกาะคุ้มกันการละเมิดศาล โวไปไกลกว่าต่างประเทศ จ่อพิจารณาสนช. 28 ก.ย.นี้

26 ก.ย.60 - ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กรธ.เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวันที่ 28 ก.ย. ว่า กรธ.ได้กำหนดหน้าที่ของศาลให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ 1.พิจารณาคำร้องที่เกี่ยวข้องกับความชอบด้วยกฎหมายกับรัฐธรรมนูญ 2.ดูแลองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่าขัดแย้งกันหรือไม่ เช่น นิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติกับองค์กรอิสระ และ 3.วินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องใหม่คือ เปิดช่องให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องมีข้อพิพาท เพื่อปิดช่องไม่ให้ปัญหาบานปลายบ้านเมืองเสียหาย แต่ทั้งนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญเองใช่หรือไม่ นอกจากนี้กำหนดให้มีตุลาการ 9 คน มีองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 7 คนในการทำหน้าที่ สำหรับบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวพันถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมนั้น กรธ. ยังยืนยันใช้หลัก "รีเซ็ท" หรือให้คนเดิมที่มีคุณสมบัติครบตามรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไปได้ ตามหลักที่ กรธ. ใช้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่

นายอุดม กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข้อโต้แย้งกันเยอะคือ การให้ประชาชนร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กรธ.ยังยืนยันในหลักการ คือให้ประชาชนมีสิทธิร้องตรง เมื่อไปฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วไม่มีการตอบรับ หรือครบกำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศาลต้องมีภาระมากเกินไป ส่วนหน่วยงานใดที่ถูกกำหนดให้การวินิจฉัยขององค์กรนั้นถือเป็นที่สุดก็ไม่อาจนำมาร้องอีกได้ เช่น คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันการละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ กำกับดูแลความเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ศาล เพื่อคงไว้ซึ่งความยุติธรรม ปราศจากการครอบงำ ด้วยการสร้างกระแสมาใช้อำนาจข่มขู่ เช่นเดียวกับ ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองถือว่าของเราไปไกลกว่าของต่างประเทศ ที่จะมีมาตรการป้องกันแค่บริเวณพื้นที่ศาล แต่ของเราป้องกันถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ที่กระทบต่อการทำหน้าที่ เช่น การเขียนบทความสร้างกระแส แต่ปกติแล้ว ศาลจะดูจากเจตนาของผู้วิจารณ์ก่อน หากทำความเข้าใจกันได้ก็ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอแนะจากศาลรัฐธรรมูญ ที่กรธ.ไม่ปรับแก้ให้หรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า เรารับฟังแล้วแก้ไขให้หลายส่วน แต่มีบางส่วนที่เราไม่แก้ไขให้ เช่น คำขอให้ตัดข้อกำหนด ให้ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ออกไป เนื่องจาก จะมีคนคอยมาเช็คเวลาเข้าออกการทำงาน แต่กรธ.ก็ไม่ได้ตัด พร้อมชี้แจงว่า ต้องกำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ข้าราชการเหมือนศาลยุติธรรม.

ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/politic/296946

ที่มา: komchadluek.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 ก.ย. 60
วันที่โพสต์: 27/09/2560 เวลา 10:24:59 ดูภาพสไลด์โชว์ กรธ.แจงหน้าที่ศาลรธน.