'มีชัย' ยันร่างฯใหม่ไม่ได้ควบคุมสื่อ ขอ สนช.อย่ากังวล ม.77 วรรคสอง

'มีชัย' ยันร่างฯใหม่ไม่ได้ควบคุมสื่อ ขอ สนช.อย่ากังวล ม.77 วรรคสอง

สนช.-สปท.จัดเสวนาร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะฯ ตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐ มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้าน "มีชัย" แนะคิดนอกกรอบ-หาเทคโนโลยีใหม่ ยันร่าง รธน.ฉบับประชามติ ไม่ได้ควบคุมสื่อ ขอ สนช.อย่ากังวล ม.77 วรรคสอง

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.60 ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จัดเสวนา "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... กลไกสำคัญในการตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐ มุ่งสู่ Thailand4.0"

โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดเสวนาครั้งนี้ เนื่องจากหลักการของร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบ การบริหารงานภาครัฐ และทุจริตคอร์รัปชัน โดยให้อำนาจกับประชาชนมากขึ้น แต่ก็ต้องแยกระหว่างข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาธารณะ กับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อาจมีการเปิดเผยมากขึ้นในยุคนี้ การนำไปใช้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ให้มีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ที่จะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ตามกฎหมาย พร้อมกับต้องไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปบิดเบือนสู่สาธารณะ เช่นกัน

ด้าน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะทำไมต้องปฏิรูป" ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดสิทธิหน้าที่แก่ประชาชนมากขึ้น ต่อการเข้าถึงการรับรู้และมีส่วนร่วมดูแลบ้านเมือง จากเดิมทุกคนคิดว่า งานของบ้านเมืองควรอยู่ในมือข้าราชการ และที่ผ่านมากฎหมายเขียนว่า หากประชาชนไม่พึงกระทำตามจะมีความผิด แต่ถามว่ากฎหมายเคยเขียนไว้หรือไม่ว่า หากเจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกให้ราษฎรจะโดนลงโทษยังไง แต่ตอนนี้เรากำลังจะเขียน โดยต้องทำให้ละเอียดรอบคอบและต้องฟังเสียงประชาชน เพราะอยากให้มองว่าคุ้มค่ากับประชาชนที่จะทำตามกฎหมายหรือไม่ อย่าไปมองเรื่องให้อำนาจรัฐอย่างเดียวและเท่าที่ดู พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะฉบับใหม่นี้ จะถึงไทยแลนด์ 4.0 จริงหรือไม่นั้น หากยังให้แต่ละหน่วยราชการเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลกันเอง ตามช่องทางที่รัฐกำหนดไว้ ถ้ายังทำแบบเดิมตนยืนยันว่า คงไม่ถึง 4.0 ฉะนั้นเราควรหาแนวทางที่มีคนที่คิดนอกกรอบคิดเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อกระตุ้นประชาชนให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

นอกจากนี้ นายมีชัย ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่การเอาปลัดกระทรวงเข้ามาก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติไม่ได้ระบุถึงการควบคุมสื่อ มีแต่เรื่องของจรรยาบรรณที่สื่อต้องไปคิดกันเอาเองว่า จะควบคุมจรรยาบรรณสื่ออย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะหากมีการทำผิดและใช้วิธีการลาออกก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งสื่อเองต้องมีสิทธิเสรีภาพ และจรรยาบรรณด้วย ส่วนกรณีที่ สนช.กังวลต่อมาตรา 77 วรรคสอง ของร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ก่อนตรากฎหมาย ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องนั้น ต้องวิเคราะห์ผลกระทบต่อกฎหมายอย่างรอบด้าน เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติ สนช.ไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก การรับฟังไม่ใช่ของเสียหาย เพราะการเปิดเผยข้อมูลสามารถเปิดเผยได้ทั้งโทรทัศน์และเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถรับทราบได้

ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/864002

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 ก.พ.60
วันที่โพสต์: 23/02/2560 เวลา 09:39:28 ดูภาพสไลด์โชว์ 'มีชัย' ยันร่างฯใหม่ไม่ได้ควบคุมสื่อ ขอ สนช.อย่ากังวล ม.77 วรรคสอง