กรธ.เล็งหาแนวทางสกัด ผู้มีอำนาจฮั้วส่งนอมินี ลงสมัคร ส.ว.

กรธ.เล็งหาแนวทางสกัด ผู้มีอำนาจฮั้วส่งนอมินี ลงสมัคร ส.ว.

กรธ.เตรียมรับฟังความเห็นประชาชน 4 ภาค "พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.-พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว." เล็งหาวิธีสกัดผู้มีอำนาจ ฮั้วส่งนอมินีลงสมัคร ส.

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.60 นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการเตรียมรับฟังความเห็นของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ช่วงปลายสัปดาห์นี้ ว่า โดยหลักการที่จะสอบถามความเห็นประชาชน คือ การแบ่งกลุ่ม ส.ว.ตามความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ ดังนั้นประเด็นที่ต้องถามประชาชน คือ 1. ต้องการให้มี ส.ว.กี่กลุ่ม มีประสบการณ์ ความรู้ หรือประโยชน์ร่วมกันอย่างไรบ้าง 2. การเลือกกันเองของผู้สมัครเป็น ส.ว.ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าต้องให้เลือกกันเองภายในกลุ่มผู้สมัครหรือเลือกนอกกลุ่มผู้สมัคร เลือกกี่ครั้ง เลือกอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ต้องการความเห็น คือ หากให้เลือกกันเองจะมีวิธีป้องกันการสมยอมหรือฮั้วกันอย่างไร เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากผู้มีเงินและต้องการอิทธิพลทางการเมือง อาจใช้เงินจ้างบุคคลที่มีคุณสมบัติให้ลงสมัคร ส.ว.ในทุกกลุ่มของระดับอำเภอก็ได้ ดังนั้นต้องหาแนวทางสกัดการว่าจ้าง รวมถึงวิธีที่จะทำให้การเลือกกันเองมีความเป็นธรรม โปร่งใส และได้ตัวแทนของผู้สมัคร ส.ว.ที่ดีเข้าสู่การเลือกกันเองระดับประเทศต่อไป

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นจะเป็นรายละเอียด อาทิ การให้ผู้สมัครส.ว.ในกลุ่มทำความรู้จักประวัติอย่างทั่วถึง เพียงพอที่จะสามารถตัดสินใจเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดได้มากกว่าการร้องขอจากผู้ที่รู้จักกันหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ภายใต้เวลาที่จำกัดเพียง 58 วันเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องไม่ทำให้มีปัญหาของความไม่เป็นธรรมต่อการประชาสัมพันธ์ตนเองของผู้สมัคร ส.ว.กรณีผู้ที่มีเงินมาก กับผู้ที่ไม่มีเงินทุน สิ่งที่เป็นเรื่องยากที่สุด คือ การจัดกลุ่มของการสมัคร ส.ว.เพราะที่ผ่านมาแม้แต่การสำรวจประชากรของหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่มีการสำรวจหรือรับรองเรื่องความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีเพียงแค่สำรวจว่าประกอบอาชีพใดเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ความสำคัญด้วย เช่น กรณีที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ร้อยละ 30 มีอาชีพเกษตรกรรม หากตัวแทน ส.ว.ที่เข้ามามีสัดส่วนเกษตรกรน้อยกว่าประสบการณ์ด้านอื่นอาจถูกครหาได้ เป็นต้น ดังนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ กรธ.ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย

ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/848693

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 2 ก.พ.60
วันที่โพสต์: 2/02/2560 เวลา 09:45:07 ดูภาพสไลด์โชว์ กรธ.เล็งหาแนวทางสกัด ผู้มีอำนาจฮั้วส่งนอมินี ลงสมัคร ส.ว.