ห่วงอวสานประชาธิปไตย

ห่วงอวสานประชาธิปไตย

ไทยรัฐออนไลน์ 13 ก.พ.2556

ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “รัฐธรรมนูญ 2550 ถึงเวลาต้องตัดสินใจ” จัดโดยสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์หลายคนร่วมเป็นวิทยากร ส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีบางบทบัญญัติที่ไม่ถูกต้อง และสมควรแก้ไข แต่ไม่มีนักวิชาการท่านใดที่เห็นว่าต้องยกเลิกทั้งฉบับ และยกร่างใหม่

นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตสาขารัฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาจากฉบับ 2540 บางส่วนดีกว่า 2540 แต่มีบางประเด็นที่ต้องแก้ไข เช่น มาตรา 309 ที่ขัดหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย แต่ควรทำประชามติก่อนแก้ไข ส่วนนายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าควรแก้ไขบางมาตรา เช่น ลดจำนวน ส.ส.

แม้แต่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้นำกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเคยเสนอให้ลบล้างผลของรัฐประหาร 2549 ให้หมดสิ้น และสนับสนุนการแก้ไขทั้งฉบับ แต่ก็ชี้เพียงบางประเด็นที่เห็นว่าขัดต่อหลักนิติธรรม เช่น ระบบศาลและตุลาการ ที่เห็นว่าขาดความ ชอบธรรม แต่รัฐบาลได้เลือกแนวทางที่จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นแนวทางที่น่าจะราบรื่นที่สุด และมีการต่อต้านน้อยที่สุด แต่รัฐบาลไม่ยอมเลือกทางสะดวก แต่เลือกหนทางวิบาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย เพราะระแวงสงสัยว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้นิรโทษกรรมคนบางกลุ่ม ยุบศาลบางศาล รวมทั้งลดอำนาจหรือเปลี่ยนที่มาของศาลหรือองค์กรอิสระ

นโยบายรัฐบาลประกาศชัดเจนว่า จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลจึงถูกคัดค้าน ถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? จึงค้างเติ่งอยู่ในสภาในวาระที่ 3 ฝ่ายผู้ต่อต้านระแวงว่าอาจมีการชี้นำ ส.ส.ร. ให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามใจ รวมทั้งทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล

นโยบายรัฐบาลระบุว่า ให้องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐมีความรับผิดชอบต่อประชาชน และพร้อมรับการตรวจสอบ มีความหมายเป็นนัยๆคล้ายกับข้อเสนอของแกนนำฝ่ายรัฐบาลหลายคน ให้ยุบบางศาล ให้องค์กรอิสระต่างๆมาจากการเลือกของสภา เพื่อให้ศาลและองค์กรอิสระยึดโยงกับประชาชน เป็นข้อเสนอที่ฟังดูดี แต่อาจนำไปสู่อวสานประชาธิปไตย

ถ้าหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งกรรมการ กกต.และ ป.ป.ช. มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา คือการเปิดทางให้พรรคที่คุมเสียงข้างมาก เป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการบางส่วน และอำนาจการตรวจสอบ นั่นคือเผด็จการรัฐสภาของแท้.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
วันที่โพสต์: 13/02/2556 เวลา 03:36:18