ผลทางกฎหมายกรณีผิดสัญญาสร้างโรงพัก โดย ธนกฤต วรธนัชชากุล

ผลทางกฎหมายกรณีผิดสัญญาสร้างโรงพัก โดย ธนกฤต วรธนัชชากุล

โดย ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (ที่มา:มติชนรายวัน 11 ก.พ.2556)

ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ให้ก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ในวงเงิน 5,848 ล้านบาท โดยครบกำหนดอายุสัญญาวันที่ 26 มีนาคม 2554 และต่อมาได้มีการขยายอายุสัญญาออกไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2556 ซึ่งขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท พีซีซีฯ ผิดสัญญาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจให้ทันตามกำหนดเวลาในสัญญาได้ โดยการส่งมอบงวดงานไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนดในสัญญา อีกทั้งมีความชัดเจนว่าไม่มีสถานีตำรวจแม้แต่เพียงแห่งเดียวที่จะสามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาได้ และมีสถานีตำรวจอีกเป็นจำนวนมากที่แทบจะไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าจ้าง จะมีสิทธิเรียกร้องและดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาต่อบริษัท พีซีซีฯ ผู้รับจ้าง ที่ผิดสัญญาแล้ว ในเรื่องทางแพ่ง จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายอย่างไรได้บ้าง

1.กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่บริษัท พีซีซีฯ ผิดสัญญาไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีสิทธิดำเนินการตามกฎหมายได้สองกรณี คือ

1.ฟ้องร้องบังคับให้บริษัท พีซีซีฯ ปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ("ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้") และเรียกเอาค่าเสียหายเนื่องจากการที่บริษัท พีซีซีฯ ผิดนัดไม่สามารถก่อสร้างสถานีตำรวจตามกำหนดเวลาในสัญญาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสี่ ("อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่")

2.ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 (มาตรา 386 วรรคหนึ่ง "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง")

เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริษัท พีซีซีฯ ย่อมกลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ("เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม?") และในส่วนของการงานที่ผู้รับจ้างได้กระทำไป ผู้ว่าจ้างต้องใช้เงินตามราคาค่าแห่งการนั้นๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ("ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้... การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น") นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบริษัท พีซีซีฯ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ ("การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่") (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2513 (ประชุมใหญ่), 6705/2541, 8722/2544)

แต่เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายแล้วจะบังคับให้บริษัท พีซีซีฯ ชำระหนี้ตามสัญญาคือดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจอีกไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2513 (ประชุมใหญ่" และเมื่อแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแล้วจะถอนไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531/2549)

2.ข้อพิจารณาเรื่องผิดสัญญา

กรณีผิดสัญญาสร้างโรงพักนี้ ปรากฏจากความเป็นจริงและตามที่บริษัท พีซีซีฯ ยอมรับว่าบริษัท พีซีซีฯ ไม่สามารถสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจให้เสร็จภายในวันที่ 14 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการขยายอายุสัญญาออกไปได้อย่างแน่นอน และความคืบหน้าของงานก่อสร้างสถานีตำรวจมีน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณงานตามสัญญา ดังนั้น การจะฟ้องร้องให้บริษัท พีซีซีฯ ปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213 วรรคหนึ่ง คือ ให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจต่อไปจนแล้วเสร็จตามสัญญาย่อมมีความเสี่ยงสูงว่า บริษัท พีซีซีฯ จะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและทำให้โครงการก่อสร้างต้องล่าช้ายิ่งขึ้น ถึงแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่บริษัท พีซีซีฯ ผิดนัดไม่ก่อสร้างสถานีตำรวจให้เป็นไปตามกำหนดเวลาในสัญญาได้ด้วยก็ตาม

ทางเลือกตามกฎหมายที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากกว่าจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 ที่ให้คู่สัญญามีสิทธิเลิกสัญญาโดยอาศัยข้อสัญญาที่คู่สัญญากำหนดสิทธิในการเลิกสัญญากันไว้ ซึ่งตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทำงานภายในเวลากำหนด หรือไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา หรือมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา หรือจะแล้วเสร็จล่าช้าเกินกว่ากำหนดเวลา หรือผู้รับจ้างผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานของผู้รับจ้างให้ลุล่วงไปด้วย ดังนั้น ในกรณีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างกับบริษัท พีซีซีฯ ที่ผิดสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 ประกอบกับสัญญา ข้อ 6 โดยไม่จำเป็นต้องรอให้สัญญาสิ้นสุดเสียก่อน และย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายและริบหลักประกันจากบริษัท พีซีซีฯ ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ ประกอบกับสัญญาข้อ 17 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควร และผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานนั้นต่อให้แล้วเสร็จตามสัญญา สำหรับค่าเสียหายจากการที่บริษัท พีซีซีฯ ไม่สามารถก่อสร้างสถานีตำรวจให้ทันตามกำหนดเวลาในสัญญานั้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องไปเช่าสถานที่ทำงานชั่วคราว ค่าใช้จ่ายที่ต้องไปว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่แล้วมีราคาค่าจ้างสูงกว่าเดิม ความเสียหายต่างๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับจากการก่อสร้างสถานีตำรวจไม่แล้วเสร็จ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืน สู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการทำสัญญากัน โดยหากมีการงานที่ได้กระทำแก่กันไว้ การกลับคืนสู่ฐานะเดิมอาจทำได้โดยการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่ได้กระทำไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ดังนั้น หากมีงานก่อสร้างสถานีตำรวจที่บริษัท พีซีซีฯ ทำตามสัญญา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับประโยชน์จากงานก่อสร้างที่ทำขึ้นนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องใช้ค่าก่อสร้างตามควรค่าแห่งงานที่บริษัท พีซีซีฯ ทำไป โดยต้องมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2528, 5032/2537๕๐, 6314/2550) โดยหากค่าเสียหายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับมีจำนวนสูงกว่าก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินค่าก่อสร้างแก่บริษัท พีซีซีฯ แต่ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่จำต้องใช้เงินค่าก่อสร้าง ถ้าหากงานก่อสร้างที่บริษัท พีซีซีฯ ทำขึ้นในกรณีใด ไม่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2521, 9062/2544) การใช้เงินตามราคาค่าแห่งงานที่ได้กระทำไปต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการงานที่บริษัท พีซีซีฯ ได้กระทำไปแล้วทั้งหมดและพฤติการณ์แวดล้อมอื่นๆ ประกอบกับความเป็นธรรมและความเหมาะสม และศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ตามสมควร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6675/2541)

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 12/02/2556 เวลา 03:41:23