เสวนา "รัฐธรรมนูญ 2550 : ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

เสวนา "รัฐธรรมนูญ 2550 : ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

ประชาไทออนไลน์Mon, 2013-02-11 05:09

10 ก.พ.56 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “รัฐธรรมนูญ 2550 : ถึงเวลาต้องตัดสินใจ” ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต, ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ โดย สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ สมาชิกวุฒิสภา

วรเจตน์ระบุรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไรก็ต้องแก้ ย้ำ การใช้กติกาของเสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่เผด็จการเสียงส่วนใหญ่ตราบเท่าที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้, ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตชี้ ปัญหาเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญคือคู่ขัดแย้งทางการเมืองขาดความชอบธรรมทั้งสองฝ่าย การปรองดองเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่เสมอภาค

ปัญหาความชอบธรรม พื้นฐานความขัดแย้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต กล่าวว่า ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญของไทยที่วางอยู่บนปัญหาพื้นฐาน ประเด็นแรกคือ ขาดความชอบธรรมทั้งสองฝ่ายที่จะพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเขาอธิบายว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา คู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายล้วนขาดความชอบธรรมในการเป็นฝ่ายนำทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งยึดสนามบิน อีกฝ่ายก็ไปยึดราชประสงค์ ทำให้ไม่สามารถยอมรับกันและกันได้

ขณะเดียวกันที่มาที่ไปของรัฐธรมนูญปี 2550 มาจากการรัฐประหาร และสสร.ปี 2550 ที่มาที่ไปไม่ถูกต้อง รวมถึงในการร่างรธน. 2550 ก็มีกรณีที่ประชุมโดยไม่ครบองค์ประชุมหลายครั้ง แต่ในภายหลังก็แก้ตัวว่า มีการลงประชามติ แต่ก็เป็นการลงประชามติที่ไม่ให้ประชาชนได้มีอิสระในการตัดสนิใจและให้เวลามากพอ กลับบอกว่าถ้าไม่ลงประชามติจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ก็ได้ เป็นการมัดมือชก ให้รับไปก่อนแก้ทีหลังแต่พอจะแก้ก็แก้ไม่ได้ เป็นการลงประชามติที่ไม่ชอบมาพากล

ดร. ลิขิตกล่าวถึงข้อบกพร่องอีกประการของรัฐธรรมนูญ 2550 คือ มาตรา 309 เป็นเรื่องที่น่าอับอาย

ดร. ลิขิตเสนอปัญกาความขัดแย้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนก่อนที่จะมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่

“ควรคุยกันก่อนว่า เราจะยังอยู่ร่วมกันหรือไม่ จะอยู่กันอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร ถอยคนละก้าวไหม หรือจะรอ นี่คือเรื่องใหญ่วา เราตกลงกันหรือยัง” โดยราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่า เรื่องใหญ่ที่เป็นข้อถกเถียงขณะนี้คือ เรื่องนิรโทษกรรม และการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ และหลายเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในตัวเอง เช่นกรณีที่ดินรัชดา ซึ่งตัดสินไปโดยไม่มีฐานความผิดรองรับ

สำหรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นนั้น มี 5 ประเด็นที่เขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง คือ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย ซึ่งรัฐธรรมนูญต้องทำการรับรองห้าประการนี้ ส่วนเรื่องการปรองดองนั้นเขาเห็นว่า เป็นไปไม่ได้หากไม่มีความเสมอภาค

ดร.จรัส สุวรรณมาลา: รัฐธรรมนูญปี 2550 มีข้อบพร่องต้องแก้ไข แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต

ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีข้อบพร่องต้องแก้ไข แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็มีปัญหาเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งเขาเห็นว่าต้องกลับไปที่ประชาชนผ่านการลงประชามติ

“อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหา เป็นเรื่องที่มีการวิจารณ์เรื่องอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ และเห็นว่าถ้าจะให้ถูกต้องต้องกลับไปที่ประชาชน ก็ต้องกลับไปที่วิธีประชามติ ซึ่งเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ การจะยกร่งใหม่ ก็ควรกลับไปที่ประชามติ แต่ตอนนี้กระบวนการเข้าไปในสภา”

อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เขาเห็นว่าควรมีการเรียบเรียงใหม่ให้เข้าใจง่าย เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ซับซ้อน โยงกันไปมา ซึ่งเข้าใจว่าเกิดจากกระบวนการร่างฯ ที่เป็นไปอย่างเร่งรีบ

ส่วนถัดมาคือ ควรกำหนดให้สภาต้องเป็นอิสระจกรัฐบาล ควรปรับสัดส่วนประชาชนต่อส.ส. เสียใหม่ เช่น ประชาชนหนึ่งแสน หรือหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ต่อ ส.ส. หนึ่งคน จะลดจำนวนส.ส.ลงได้มาก, ส.ส. อิสระลงเลือกตั้งได้ ไม่ต้องสังกัดพรรค, กำหนดคุณสมบัติของส.ส. โดยเขาอ้างจากงานวิจัยพบว่ามีส.ส. จำนวนหนึ่ง ทั้งที่เป็นปาร์ตี้ลิสต์ และมาจากการเลือกตั้ง ก็มักจะป่วยตั้งแต่ตอนเลือกตั้ง ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นควรมีคุณสมบัติพื้นฐานด้านสุขภาพที่ดี พร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้วย

นอกจากนี้ควรกำหนดสมาชิกภาพส.ส. ส.ว. ถ้าขาดประชุม 1 ใน 4 ควรหมดสภาพ แม้ที่ผ่านมาจะระบุไว้เช่นนั้นแต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีที่ประธานสภาให้ลาได้ ทำให้การลาประชุมกับประธานสภาใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่

สุดท้าย มาตรา 190 ซึ่งเขาแสดงความเป็นห่วงกรณีที่รัฐบาลทำสัญญาระหว่างประเทศโดยไม่รับผิดชอบและจะส่งผลกระทบต่อประชาชน “ดูกรณีเอฟทีเอกับจีนเราจะเห็นชัดว่าคนที่เป็นเกษตรกรภาคเหนือ ทั้งผักผลไม้ล้มละลายเป็นแผง คำถามคือจะจัดการอย่างไรดี เพราะรัฐบาลทำสัญญาโดยไม่รับผิดชอบ”

นอกจากนี้มีข้อเสนอเรื่องการปกครองท้องถิ่นโดยต้องออกแบบโครงสร้างให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจจัดการตนเองมากขึ้น

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: แก้รัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก ไม่เท่ากับเผด็จการเสียงข้างมาก

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า แม้แต่ผู้ที่ไม่ต้องการแก้ไขรธน. ฉบับนี้ ถึงที่สุดแล้วก็ต้องแก้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 3 บัญญัติว่าประชาชนหรือปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอธิปไตย การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีศาล รวมท้ังองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่ถ้าอ่านรัฐธรรมนูญแล้วจะพบว่ามีปัญหาที่ไม่สอดคล้องหลักนิติธรรม และนิติรัฐ

ดังนั้นหากจะซื่อตรงต่อกันแล้ว หากจะไม่แก้ไขก็ต้องยอมรับหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยกันไปเลย แต่หากไม่ยอมรับก็ควรต้องแก้ไขมาตราดังกล่าวไปเลยว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและไม่ได้เป็นนิติรัฐ

“มีบทบัญญัติหลายมาตราที่แสดงให้เห็นความไม่เป็นนิติรัฐไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การที่ระบบศาลและองค์กรตุลาการของประเทศนี้ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย อำนาจรัฐทุกอำนาจไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการต้องเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชนไม่ว่าทางใดทางหนึ่งได้ทั้งสิ้น ห่วงโซ่ประชาธิปไตยต้องไม่ขาดสายหรือขาดตอนลง แต่อำนาจตุลาการของไทยไม่เคยเป็นเช่นนั้น ผมไม่พูดเรื่องการเลือกตั้งศาล แต่ผมกำลังจะบอกว่าศาลในประเทศไทยไม่มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจตุลาการที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ เมื่อสืบสาวการเชื่อมโยงกับประชาชนที่เป็นที่มาของความชอบธรรมของอำนาจนั้นพบว่าไม่มี”

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงหลักนิติรัฐและนิติธรรมในแง่ที่บุคคลที่ถูกกระทบสิทธิสามารถสู้คดีในศาลได้ แต่บทบัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมือง กำหนดให้การวินิจฉัยของกกต. เป็นที่สิ้นสุด ไปที่ศาลไม่ได้

การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยวุฒิสภา ขณะที่สว. บางส่วนมากจากการสรรหา มาจากศาล มาจาก ปปช.แต่ รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภามีอำนาจถอดถอน ทำให้คนที่ถูกคัดเลือกมาถอดถอนคนที่ถูกเลือกตั้ง เป็นตัวอย่างที่เป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรม

วรเจตน์เห็นว่าองค์ประกอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีหลายส่วนที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย แต่ก็มีบางมาตราในรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นคงไว้ได้ เช่น เรื่องการประกันสิทธิเสรีภาพ

สำหรับปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เขาเห็นว่าเป็นปัญหาทางเทคนิค ว่าจะร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้ไขรายมาตรา อย่างไรก็ตามการอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการลงประชามตินั้น เขาเห็นว่าไม่เป็นเหตุผลที่เพียงพอ โดยยกตัวอย่างประเทศตุรกี ที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อปี ค.ศ. 1980 และมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ลงประชามติในปี 1982 โดยมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้หลักประกันว่าการทำรัฐประหารไม่เป็นความผิด แต่เมื่อปี ค.ศ. 2010 ที่ผ่านมา มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และมีบทบัญญัติยกเลิกความคุ้มกันคนที่ทำรัฐประหาร เมื่อประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 1982 ผลคือ คนที่ทำรัฐประหารเมือปี 1980 บัดนี้ไม่มีความคุ้มกันอีกต่อไป และวันนี้นายทหารที่กำลังทำรัฐประหารกำลังเผชิญกับการถูกดำเนินคดี หัวหน้าคณะทหารที่มีอายุ 92 ปี ก็กำลังถูกดำเนินคดี

“ปัญหาคือในบ้านเราทำอย่างไร มื่อห้าปีก่อนที่มีการดีเบตจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมเคยร่วมเวทีกับคุณจาตุรนต์และอาจารย์นิธิเป็นฝ่ายคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในเวลานั้น โดยมีหนึ่งท่านที่เป็นสสร. อยู่บอกให้ประชาชนรับไปก่อน และยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นทำได้โดยง่าย เหมือนเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญ 2534 เป็นปี 2540 ในเวลานั้นไม่มีใครสักคนเดียวในหมู่ สสร. ยืนยันว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับบนี้ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อน”

เขากล่าวต่อไปว่าแต่ประเด็นประชามติมีการพูดขึ้นมาหลังที่สภามีการเสนอแก้ไขรธน. ผ่านวาระ 2 มาแล้ว จนคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของสภาขัดแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ แล้วก็ไม่ได้ความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมคิดว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เป็นความจริงที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เสียความชอบธรรมทางการเมือง แต่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมันมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คือการเคารพเสียงข้างมากโดยไม่ได้ปฏิเสธเสียงข้างน้อย แต่หลายคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเผด็จการเสียงข้างมาก แต่ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทย คือปัญหาการทำความเข้าใจเรื่องหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสแสดงควาเมห็นในที่สาธารณะ เมื่อทุกฝ่ายได้มีโอกาสพูดแสดงความเห็นอย่างไรแล้วก็ต้องตัดสินใจ แล้วอนุโลมไปตามเสียงข้างมาก แต่เมือ่ไหร่เสียงข้างมากบอกว่าเรื่องนี้คุณห้ามพูด อันนั้นแหละเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก

“แต่ถ้ามีการตัดสินใจ อันนั้นเป็นประชาธิปไตย แต่เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยก็มีโอกาสในการโน้มน้าวเสียงข้างมาก แต่ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น คือไม่เคารพกัน เราต้องเริ่มจากจุดนี้ก่อนว่ารับจุดนี้หรือไม่ แต่เหมือนกับว่าเราไม่ยอมรับ กลายเป็นว่าต้องเอาอย่างเสียงข้างน้อยตลอดเวลา รัฐบาลไหนก็ตามที่แตะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีปัญหาทันที แก้ไม่ได้เพราะกลไกรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นมาจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เพราะการรัฐประหารยังไม่สำเร็จลง เพราะยังไม่สามารถทำลายคู่ปรปักษ์ทางการเมืองก่อนการรัฐประหารลงได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญบับนี้จะยังถูกขวางไม่ให้แก้ เพื่อให้กลไกนั้นบรรลุผลเป็นการทำลายปรปักษ์ทางการเมืองให้ราบคาบลง”

ทั้งนี้ เขาเห็นว่าเมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแตะต้องรัฐธรรมนูญขึ้นมากลไกองค์กรตามัฐธรรมนูญก็เริ่มทำงานทันที โดยเขาระบุว่านักกฎหมายของไทยแทบจะทั้งหมด เห็นพ้องกันว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องให้พิจารณาการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสภาไว้นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเพราะคำร้องดังกล่าวไม่ผ่านอัยการ

“นี่เป็นตัวบทที่เห็นชัด เป็นข้อเท็จจริง และคำถามคือถ้าองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแล้วละเมิดเสียเองเราจะทำอย่างไรกับองค์กรนั้น”

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าขณะนี้ เสียงข้างมากในสภา ได้สูญเสียอำนาจต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วเพราะไปยอมรับการตีความของศาลแต่เมื่อยอมรับการตีความของศาลฯ ก็มีปัญหาตามมาคือ คำวินิจฉัยของศาลฯ ไม่ชัดเจน วาต้องทำประชามติหรือไม่

ข้อโต้แย้งเรื่องโอนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญไปให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ-สสร.

วรเจตน์กล่าวว่ามีข้อโต้แย้งประการหนึ่งที่เขาเห็นว่าจะไม่สมเหตุสมผลนัก คือการกล่าวหาว่าหากมีการตั้งสสร. แปลว่าฝ่ายสภากำลังโอนอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปให้ สสร. และเป็นสิ่งที่ขัดรธน. ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะสสร. ไม่มีอำนาจในการแก้ไขรธน. สสร. มีเพียงอำนาจในการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นไม่มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเอง

“อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นสุดท้ายอยู่ที่ประชาชน สสร. เป็นเพียงแต่ผู้ทำร่างฯ ตราบที่ประชาชนไม่ตัดสินใจ ถ้าสสร. ร่างฯ ขึ้นมาไม่ดี แล้วประชาชนไม่รับ ก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว และที่สำคัญในระหว่างที่สสร. ยกร่างฯ ถ้าระหว่างนั้นมีความจำเป็นต้องแก้ไข รัฐสภาก็ยังคงอำนาจบิหบูรณ์ ไม่ใช่สสร.เลย โดยระบบอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เคลื่อนย้ายไปสู่สสร. เลยแม้แต่น้อย ส่วนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่อยู่ทีประชาชนเจ้าของอำนาจ”

วรเจตน์ย้ำคำวิจารณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น แทนที่จะแก้ปัญหากลับสร้างปัญหาของระบบ คำวินิจฉัยที่ดีต้องทำให้ปัญหาจบ ไม่ใช่วินิจฉัยแล้วกลับสร้างปัญหาใหม่ กลับทำให้คนต้องมาตีความ คำวินิจฉัยนี้ถูกตีความไปหลายนัยยะ รัฐบาลก็ตีความว่า ลงมติไปได้ ฝ่ายค้านนักวิชาการอีกส่วนก็บอกว่าต้องทำประชามติก่อน แต่ถ้าจะทำประชามติก็มีปัญหาอีก

“ประชามติ ถ้าจะทำก็มีสองแบบ คือมีผลผูกพัน ยุติตามนั้น และประชามติแบบปรึกษาหารือ ประชามติมีผลเพียงการให้คำปรึกษากับคณะรัฐมนตรี ถ้าทำแบบมีผลผูกพัน ต้องมีคนออกเสียงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผู฿มีสิทธิออกเสียงที้งหมด ส่วนจะได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ ฝ่ายหนึ่งบอกต้องได้เกิน 24 ล้าน หรือข้างมากของคนที่มาออกเสียงทั้งหมด แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ไม่ง่ายหรอก เพราะฝ่ายที่ไม่เอาก็จะไม่มาออกเสียง

“แต่สมสมติ คิดในแง่ดีที่สุด ต่อให้ผ่านการออกเสียงประชามติ ผมบอกเลยว่ามตินี้ก็ไม่ได้มีผลผูกพันต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะได้รับการประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 122 การออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิของเขาเอง ดังนั้นการลงประชามติจะเป็นแค่เรื่องทางการเมือง เพราะไม่มีผลผูกพัน”

“แล้วจะเดินอย่างไรต่อ เรื่องแบบนี้ค้างวาระสามอยู่ไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง จะปล่อยไว้จจนครบสี่ปี เสนอให้เดินหน้าลงมติวาระสามไป จะผ่านหรือไม่ก็ว่าไปตามนั้น ถ้าต้องการให้กลับไปหาประชาชน ก็อาจจะประกาศว่าถ้าไม่ผ่านก็ยุบสภา ให้ประชาชนเลือกใหม่ อีกหนทางคือ คงวาระสามไว้ แล้วแก้ส่วนที่เป็นปัญหาก่อนจะเป็นเรื่องประชามติ หรือโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิธีหลังผมสนับสนุนนะครับ”

วรเจตน์กล่าวว่า ไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ย่อมมีความขัดแย้งตามมา แต่การจะเดินไปโดยไม่มีความขัดแย้งเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ และความขัดแย้งก็เป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย แต่เมื่อขัดแย้งแล้วต้องเคารพการตัดสินใจ แล้วคนเสียงข้างน้อยถ้าแพ้ก็รณรงค์ให้เกิดการตัดสินใจ โดยเขายืนยันว่านี่ไม่ใช่ข้อเสนอให้หักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่ต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม วรเจตน์ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงที่สุดแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยเพราะรัฐบาลอาจจะพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ พอใจกับผลการเลือกตั้ง แต่ผลร้ายจะตกอยู่กับบ้านเมือง ที่จะไม่ไปไหน และตกอยู่ในสภาพแบบนี้ต่อไป

วรเจตน์กล่าวเสริมว่าเห็นด้วยกับการทำให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย และไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค สร้างหลักการทำงานของสส. แต่ข้อเสนอแบบนี้จะทำได้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และเท่าที่ฟังผู้ร่วมเสวนาทุกคนก็ยอมรับว่าแก่ได้ แต่ไม่รู้ว่าแก้เรื่องไหนบ้าง ก็ต้องเถียงกันก่อน

“สิบกว่าปีมานี้พัฒนาการในทางประชาธิปไตยมันสูงขึ้นมาก แม้จะมีคนบอกว่ามีการซื้อเสียงอยู่ แต่การเลือกตั้งห้าครั้งที่ผ่านมา บอกว่าประชาชนไทยเสียงข้างมากยืนยันเจตจำนงของตัวเองชัดเจน ถ้าไม่มีรัฐประหารเราอาจจะไม่รู้ ข้อดีของรัฐประหาร2549 ถ้าจะดีก็มีอย่างเดียวคือช่วยเผยโฉมเจตจำนงของประชาชนที่แท้จริงว่าต้องการอะไร เพราะประชาชนเสียงข้างมากยังยืนยันเลือกพรรคการเมืองจากเสียงข้างมาก เจตจำนงนี้ถูกคอนเฟิร์มอีกครั้งในปี 2550 และอีกครั้งในปี 2554 ถ้าเราไม่เคารพตรงนี้แล้วจะอยู่อย่างไร ฝ่ายทีแพ้อาจจะต้องทำการโน้มน้าวใจ แต่อาจจะต้องใช้เวลา และนี่คือประชาธิปไตย ถ้าเราพูดกันบนหลักเหล่านี้ไม่มีปัญหา”

วรเจตน์กล่าวทิ้งท้ายว่า หากไม่ยอมรับกติกา การกำเนิดเกิดขึ้นของประชาธิปไตยที่แท้จริงในเมืองไทยจะมีชะตากรรมไม่ต่างกับที่อื่นในโลก

ไพบูลย์ นิติตะวัน สว. สรรหา แสดงความเห็นว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสภาควรใช้เสียงข้างมากพิเศษ ควรให้สว. ได้มีส่วนด้วย โดยเขาไม่เชื่อว่าฝ่ายการเมืองจะบริสุทธิ์ ทำเพื่อประชาธิปไตย การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ไขปัญหาของนักการเมืองเ พิ่มอำนาจในการชิงอำนาจ เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็อยากเป็นรัฐบาลไปตลอดกาล ส่วนกลไกการตรวจสอบทุกวันนี้ชักช้ามาก และหากใช้เสียงข้างมากลุยไป วิกฤตมาถึงแน่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยมุมมองหลายมิติ เน้นการสร้างความเข้าใจกับสังคม และเชื่อว่าประเด็นต่างๆ ที่นักวิชาการเสนอไปนั้นจะได้รับการทำมาแก้ไข แต่ต้องเน้นภราดรภาพ และเน้นประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ อย่าไปเน้นเชิงปริมาณ

สำหรับเขาแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสาเหตุของการวิกฤต วิกฤตไม่ได้เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญแต่เกิดจากการพยายามไปทำอะไรกับรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นการปกป้องหรือแก้ไข ขอให้หยุดการกระทำนั้นดีกว่า

“ยืนยันว่าวิกฤตเกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากกว่าจะเป็นวิกฤตจากรัฐธรรมนูญ และในฐานะชาวพุทธถ้ายังแตกแยกคัดคานกันอย่างนี้ ก็น่าจะชะลอไว้ก่อน แล้วค่อยเดินหน้าฉันพี่น้อง”

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 11/02/2556 เวลา 03:04:33