สถานการณ์'สมรสเกย์' สิทธิ-กฎหมายแห่งยุคสมัย

สถานการณ์'สมรสเกย์' สิทธิ-กฎหมายแห่งยุคสมัย

วันที่ 09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8018 ข่าวสดรายวัน

สิทธิการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมตะวันตก

ล่าสุด รัฐสภาอังกฤษเพิ่งโหวตรับรองร่างกฎหมายสมรสคนเพศเดียวกัน (เกย์/เลสเบี้ยน) ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 400 ต่อ 175 แต่ในทางการเมืองแล้วถือได้ว่าเป็นสัญญาณความแตกร้าวใน พรรคอนุรักษนิยม (คอนเซอร์ เวทีฟ) แกนนำรัฐบาลอังกฤษ เนื่องจากส.ส.อนุรักษนิยม 136 คนโหวตไม่เอาด้วยกับร่าง กม.นี้ ซึ่งเท่ากับมากกว่ากึ่งหนึ่งของส.ส.พรรคนี้ในสภา

นับเป็นการ "กบฏ" ครั้งใหญ่ต่อนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคที่โหวตสนับสนุนกฎหมายสมรสเกย์

ในประเทศตะวันตกอื่นๆ ก็มีการพิจารณากฎหมายสมรสเกย์ในรัฐสภาเช่นกัน เช่น ฝรั่งเศส ฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านสิทธิสมรสชาวเกย์เพิ่งออกมาชุมนุมใหญ่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ส่วนออสเตรเลีย พรรคกรีนได้เสนอร่างกฎหมายสมรสเกย์แล้ว แต่คาดว่าคงไม่ผ่านสภาเร็วๆ นี้ เพราะส.ส.พรรคใหญ่ๆ ไม่กล้าแตะประเด็นเกย์

สำหรับสหรัฐอเมริกาแต่ละรัฐมีกฎหมายว่าด้วยการสมรสเกย์ต่างกันไป ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งที่อนุญาต โดยไม่นานมานี้รัฐแมรี่แลนด์ก็เพิ่งโหวตรับรองการสมรสเกย์

ขณะที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต สร้าง "เซอร์ไพรส์" ครั้งใหญ่ด้วยการกล่าวสนับสนุนสิทธิเกย์ในสุนทรพจน์รับตำแหน่งสมัยที่ 2

สาเหตุที่ประเด็นนี้ล่อแหลมอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มเคร่งศาสนาคริสต์มองว่าการรักเพศเดียวกันขัดต่อบัญชาพระเจ้า โดยคัมภีร์ไบเบิลระบุไว้ว่า "เจ้าอย่าสมสู่กับผู้ชายต่างผู้หญิง เพราะเป็นสิ่งที่น่าสะอิดสะเอียน" (เลวีนิติ 18:22) และหลักศาสนาสอนว่าพระเจ้าสร้างหญิงมาคู่กับชาย

ขณะเดียวกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมก็เกรงกลัวว่าหากอนุญาตให้เกย์สมรสกันได้ จะเป็นภัยต่อสถาบันครอบครัวแบบดั้งเดิมที่มีพ่อกับแม่ ชายกับหญิง และมองว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ

อย่างไรก็ตาม กรณีของอังกฤษค่อนข้างจะซับซ้อนหน่อย โดยชาวเกย์สามารถจดทะเบียน "รับรองสถานภาพชีวิตคู่" หรือ civil unionship ได้ เพียงแต่รัฐบาลไม่ยอมเรียกว่า "การแต่งงาน" (marriage) อย่างเป็นทางการ ก็เพราะเกรงกลัวการต่อต้านจากกลุ่มเคร่งศาสนาและอนุรักษนิยมนั่นเอง ทั้งที่การรับรองชีวิตคู่ก็มีสิทธิ์ใกล้กันกับการแต่งงานมากอยู่แล้ว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการถกเถียงเรื่องการสมรสเกย์จึงไม่ได้เป็นเรื่องกฎหมายและสิทธิอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกและค่านิยมด้วย คือ ฝ่ายเกย์ต้องการรู้สึกว่าตนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ ส่วนฝ่ายต่อต้านก็หวาดกลัวว่าวิถีสังคมกำลังถูกบ่อนทำลาย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อโต้แย้งของฝ่ายต่อต้านสิทธิเกย์ คล้าย กับการต่อต้านสิทธิ อื่นๆ ในอดีต

เช่น ขบวนการต่อต้านสิทธิการเลือกตั้งของสตรีในสหรัฐ อเมริกาเมื่อช่วง ต้นศตวรรษที่ 20 คนกลุ่มนี้โต้กลุ่มนักสิทธิสตรีว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีสติปัญญาที่ต่ำกว่าผู้ชาย และหน้าที่ของผู้หญิงคือการเป็นแม่บ้านที่ดี ควรดูแลบ้านเรือนขณะที่ผู้ชายดูแลประเทศชาติ

ทั้งยังปลุกกระแสให้เกิดความกังวลว่าหากผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งจะเกิดความวุ่นวายในสังคมครั้งใหญ่ ผู้หญิงจะไม่ยอมทำหน้าที่ของตนเอง ประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณจะสูญสิ้น

ส่วนคนที่เคร่งศาสนาคริสต์ก็ยืนยันว่า ในหลักคำสอนพระเจ้าสร้างผู้หญิงจากซี่โครงผู้ชาย จึงมีสถานะต่ำต้อยกว่าผู้ชาย ไม่ใช่เท่าเทียมกัน

ประเทศไทยนับว่าโชคดีกว่าตะวันตกหลายชาติในเรื่องนี้ เพราะหญิงกับชายได้รับสิทธิเลือกตั้งพร้อมกันตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ บรรดารัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกายังเคยแบ่งแยกคน "ผิวขาว" (คอเคเซี่ยน) กับ "ผิวดำ" (แอฟริกัน-อเมริกัน) เป็นสองชนชั้นอย่างชัดเจน โดยคนผิวดำไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และสถานที่ต่างๆ ต้องแยกคนผิวดำจาก คนผิวขาว ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงภาพ ยนตร์ ที่นั่งบนรถประจำทาง หรือแม้แต่ตู้กดน้ำดื่ม

คนที่สนับสนุนการแบ่งแยกเช่นนี้มองว่าคนผิวดำด้อยกว่าคนผิวขาว จึงไม่ควรได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน

ในยุคนั้นมีความเข้าใจกันแพร่หลายด้วยว่า แอฟริกันมีสติปัญญาด้อยกว่าชาวตะวันตก บางคนถึงกับเสนอว่าคนผิวดำไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงลิงค่าง ดังนั้น หากจะให้คนผิวขาวกับคนผิวดำมีสิทธิเท่าเทียมกันจะเป็นเรื่อง "ผิดธรรมชาติ" อย่างร้ายแรง

แน่นอนว่าปัจจุบันชาติตะวันตกต่างๆ รับรองความเสมอภาคของสตรีและคนต่างผิวกันหมดแล้ว คำกล่าวอ้างว่า "การเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง" หรือ "คนผิวดำไม่ควรมีสิทธิ์" กลายเป็นข้อความหยาบคาย ในสายตาสาธารณชนสมัยนี้ ทั้งที่คำกล่าวเหล่านี้เคยถูกมองว่าเป็น "ข้อเท็จจริง" เมื่อศตวรรษที่แล้วเท่านั้น

จึงน่าคิดว่า พอเวลาผ่านไป 100 ปีข้างหน้า คนในอนาคตจะคิดเห็นอย่างไรกับการต่อต้านสิทธิชาวเกย์ทุกวันนี้?

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 9/02/2556 เวลา 03:05:25