มูมมาม อย่างนี้ น่าเกลียด “จุงเบย”

มูมมาม อย่างนี้ น่าเกลียด “จุงเบย”

โดย : ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 01:00

ผมขอยืมแสลงของวัยรุ่นไทยสมัยนี้ที่นิยมพูดคำว่า “จังเลย เป็น จุงเบย” มาหยอดไว้กับหัวเรื่องซึ่งจะสนทนากันให้ออกรสชาติกันหน่อย

เพราะวันนี้มีหลากหลายเรื่องราว “การโกงกิน” ซึ่งนอกจากกินกันมูมมามไม่แนบเนียน ยังจะเป็นบรรทัดฐานให้คนรุ่นหลังๆ มองว่าคนรุ่นเราไม่ทำอะไรเพื่อเขา อีกหน่อยคนคิดจะทำดีเชื่อในการทำความดีจะเหลืออยู่สักกี่คน

กรณีโรงพักเกือบสามร้อยแห่งทั่วประเทศ มีผู้รับเหมารายเดียวรับงาน โดยเนื้อข่าวระบุว่า “มีการไปกระจายงาน (sub contract)” กับบริษัทห้างร้านอื่นๆ กระทั่งครบกำหนดระยะเวลาส่งมอบงานหลายแห่งมีแต่เสา บางแห่งดีหน่อยมีมุงหลังคาให้เห็นอยู่หร็อมแหร็ม เป็นการประจานการ “โกงกินกันอย่างแสนสาหัสในสังคมไทย” ซึ่งนักการเมืองที่อยากเข้ามามีอำนาจรัฐ ส่วนหนึ่ง รอคอยและคาดหวังผลตอบแทน ในลักษณะนี้กันมาก

"ระบบมาเฟีย" ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในอดีตที่เรียกกันว่า “พวกเจ้าพ่อ” แบบรุ่นเก๋าอย่าง “กำนันเป๊าะ” “กำนันจิว” เดี๋ยวนี้พัฒนามาเป็นเจ้าพ่อมาเฟียในรูปแบบนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งนายกเทศมนตรี นายก อบต. นายก อบจ. เพราะได้ "ทั้งเงิน (งบประมาณมหาศาล) และ กล่อง (เกียรติยศ เครื่องแบบ คนนับหน้าถือตา)" เรียกว่า ใครไม่รู้ก็ให้รับทราบกันว่า การเร่งรัดให้อำนาจกับท้องถิ่นเพื่อโกยคะแนนเสียงของนักการเมืองในระยะช่วงเปลี่ยนผ่านสิบกว่าปีที่ผ่านมาสร้างความย่อยยับให้กับระบบการบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่น้อย เพราะทั้งข้าราชการที่ร่วมสมคบคิดและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่อยากได้งบประมาณก้อนโตก็มีได้เห็นไปผูกมิตรผูกเสี่ยวกับบรรดา “เจ้าพ่อมาเฟียรูปแบบใหม่เหล่านี้” หาทางสนับสนุน ยืนยันในความจำเป็นต้องเร่งขยายการปกครองท้องถิ่นให้ทั่วประเทศ รอวันหนึ่ง เดือนหนึ่งก็ไม่ยอม กล่าวหาคนคัดง้างว่าไม่เห็นแก่ประชาธิปไตย ขออะไรก็ต้องให้ ล่าสุดได้ยิน ร่ำๆ จะเอาอำนาจของส่วนกลางเกือบทั้งหมดตั้งแต่ ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย งานเก็บภาษี งานทะเบียนเกือบทุกประเภทเข้าไปอยู่ในความครอบครอง ถ้าทำได้สำเร็จเราคงได้เห็นคนเหล่านี้มีกองกำลังติดอาวุธถูกต้องตามกฎหมายติดสอยห้อยตามไปได้ทุกแห่ง อีกหน่อย อบต. อบจ. คงเหมือนกองกำลังย่อยๆ ถ้าเอาไปใช้ในทางที่ผิดก็ไม่ต่างกับกองโจรดีๆ นี่เอง

ให้ข้อมูลออกไปอย่างนี้ จะนึกว่าเป็นการกล่าวหาหรือให้ร้ายแต่ประจักษ์พยานทั้งข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือกระทั่งกรณีตัวอย่างการโกงกินที่ไปสู่ ป.ป.ช. ตัวเลขสถิติมันฟ้องชัดว่า ปีปีหนึ่ง ใครทำชั่วทำดีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้เราไม่เถียงว่า คนดีหรือคนที่มีความพยายามจะแก้ปัญหาท้องถิ่นนั้นมี แต่ “กระแสแห่งขบวนการฮั้วสมคบคิดกันเบียดบังตอดเล็กตอดน้อยกระทั่งกินกันมูมมามย่ามใจแบบที่พบเห็นนี้” เป็นเรื่องราวซึ่งทุกฝ่ายรู้กันดี จะประมูลไม่ว่าจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเปิดซอง ก็ฮั้วกันมาตั้งแต่อยู่ในมุ้ง แบ่งกันเป็นตำบลหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครหาทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรม พูดไปบ่นไป พวกนี้ก็ไม่กลัว เพราะรู้ว่า “ถ้าไม่ถึงคราวเคราะห์เหมือนอย่างกรณีตำรวจล่าสัตว์ถูกจับได้” สื่อมักไม่ค่อยเกาะติดข่าว บังเอิญเรื่องนั้นเป็น “เคราะห์หามยามร้ายของตำรวจรายนั้น” ที่เรื่องไม่น่าจะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตดึงเอาหัวหน้าพนักงานสอบสวนซึ่งเป็น “นายอำเภอ” มาติดร่างแหไปพร้อมๆ กัน

เรื่องการสอบสวนตำรวจล่าสัตว์จะถูกผิดอย่างไรกระบวนการสอบสวนคงพิจารณากันไปตามเนื้อผ้า แต่คำติฉินนินทา การหวาดระแวงจะมีการช่วยเหลือ เพราะสิเน่หา เพราะความเป็นพวกพ้อง ร่วมหัวจมท้ายกันมา ยังคงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีสิทธิจะคิดได้ เพราะเขาไม่วางใจระบบการสอบสวนวินัยของทางราชการ เพราะบางทีสอบกันไปลากยาวแรมปีกลายเป็น “ฟอกขาว” ให้กับคนทำผิด หรือ ไม่สามารถเอาผิดได้เพราะดูอายุความอย่างในอดีตที่ผ่านมาก็มีให้ได้เห็นกันอยู่หลายราย

“การสร้างโรงพักที่เป็นเครื่องหมายแห่งความอัปลักษณ์ของการโกงกินในกรณีที่นำเสนอนี้” ไม่ต่างกับกรณี “โครงการทางรถไฟโฮปเวลล์” ที่วันนี้ข้อสรุปเท่าที่ทราบต้องทุบเสาตอม่ออันน่ารังเกียจและทำลายทัศนียภาพทางสายตาของผู้พบเห็นมากกว่าสิบปี เพราะสภาพที่ปล่อยร้างค้างไว้ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก ไม่นับรวมงบประมาณซึ่งใช้จ่ายไปกับการก่อสร้างและ “ค่าโง่” ที่นักการเมืองฝากรอยจารึกเอาไว้อีกนับหมื่นล้านบาท เรื่องเหล่านี้ ถ้าจะปล่อยให้เจ๊าๆ กันไป หรือ “ใครคิดจะนิรโทษกรรมให้เหลือบริ้นไรนักโกงกินเหล่านี้” กันง่ายๆ คงต้องเอาเรื่องทั้งคนเสนอกับคนสนองให้หนักๆ

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 6/02/2556 เวลา 07:19:31