ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กาฬสินธุ์ นำชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีด สร้างรายได้เดือนละล้านสู่ชุมชน

ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กาฬสินธุ์ นำชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีด สร้างรายได้เดือนละล้านสู่ชุมชน

ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หัวก้าวหน้านำชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีด ผลิตแหล่งอาหารโปรตีน ปลอดสารพิษสู่ผู้บริโภค เพิ่มความมั่นคงทางอาชีพการเกษตร สร้างรายได้เดือนละล้านสู่ชุมชน โดยยึดหลักการดำรงชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณอรวรรณ วอทอง ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 2 ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยถึงความเป็นมาว่า ก่อนที่จะมายึดอาชีพด้านการเกษตรนั้น ทำงานโรงงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2550 ต่อมาโรงงานได้ลดพนักงานโดยได้จ้างตนออกจากงาน จึงได้กลับบ้านที่กาฬสินธุ์มายึดอาชีพการเกษตร เริ่มจากการปลูกผักขายในปี 2551

คุณอรวรรณ วอทอง

จากนั้น หันมาทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย โตไว เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี มีไฟเบอร์สูง แปรรูปได้หลากหลาย ใช้แรงงานน้อย ใครๆ ก็เลี้ยงจิ้งหรีดได้ ในพื้นที่สภาพแห้งแล้งก็เลี้ยงได้เพราะใช้น้ำน้อย ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 40 วัน ก็จับขายได้เงิน ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ

“เริ่มต้นเลี้ยงด้วยเงินทุน 5,000 บาท โดยทำกล่องเลี้ยงจิ้งหรีดขนาด 2×4 เมตร จำนวน 2 กล่อง เลี้ยงจิ้งหรีดได้ 60 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 100 บาท ได้เงิน 6,000 บาท คืนทุนตั้งแต่ครั้งแรก จึงได้ขยายการเลี้ยงจิ้งหรีดเพิ่มและชวนคนในครอบครัวให้หันมาเลี้ยงจิ้งหรีด โดยมีกล่องเลี้ยงจิ้งหรีดจำนวน 250 กล่อง เลี้ยงจิ้งหรีดได้ 4,500 กิโลกรัม/เดือน ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 80 บาท สร้างรายได้ 360,000 บาท/เดือน”

เลี้ยงได้ดี

ปัจจุบันคุณอรวรรณยึดอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในหมู่บ้านหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดแบบตนเองเพิ่มมากขึ้น โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอยางตลาด สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาสนับสนุนและได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน “แมลงสะดิ้งบ้านฮ่องฮี” ทำการแปรรูปจิ้งหรีดทอดและน้ำพริกจิ้งหรีดจำหน่ายเพิ่มรายได้

คุณอรวรรณ กล่าวอีกว่า ปี 2557 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จังหวัดกาฬสินธุ์” เป็นผู้นำในเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีดให้กับชุมชนบ้านฮ่องฮี หมู่ที่ 14 ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีจำนวนประชากร 184 ครัวเรือน หันมาเลี้ยงจิ้งหรีด จำนวน 49 ครัวเรือน เป็นอาชีพหลัก โดยทั้งหมู่บ้านมีกล่องเลี้ยงจิ้งหรีด จำนวน 866 กล่อง ขนาดกล่องเลี้ยง 2×4 เมตร ผลผลิตจิ้งหรีดในหมู่บ้าน 15,026 กิโลกรัม/รุ่น ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 80 บาท สร้างรายได้เข้าหมู่บ้านประมาณ 1.2 ล้านบาท/เดือน

เกษตรกรมาดูงาน

ในปี 2560 กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ได้รับการสนับสนุนให้เป็น แปลงใหญ่จิ้งหรีด จังหวัดกาฬสินธุ์ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ สนับสนุนเงินทุนและอุปกรณ์เครื่องมือในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดทอดและน้ำพริกจิ้งหรีด โดยมีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น เข้ามาให้ความรู้วิชาการด้านจิ้งหรีด ระบบการเลี้ยง การตลาด การทำแปลงใหญ่จิ้งหรีดกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดมีการรวมตัวกันซื้ออาหารจิ้งหรีด ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารจิ้งหรีดให้ถูกลง ตอนนี้ตนเองเป็นคนรวบรวมจิ้งหรีดในหมู่บ้านโดยการรับออเดอร์จากพ่อค้าเพื่อกระจายสินค้าจิ้งหรีดให้สมาชิกผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในหมู่บ้าน เป็นการขับเคลื่อนด้านการตลาดให้ชุมชนเสริมความมั่นคงให้อาชีพการเกษตร

ผลผลิตมีคุณภาพ

ในการดำรงชีวิตของคนในชุมชนบ้านฮ่องฮีนั้น ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จิ้งหรีดแปรรูป

อีกหนึ่งการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน โดยการผลักดันให้เกษตรกรมีความสามารถในอาชีพของตนเอง (Smart Farmer) ด้วยการทำอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชน

หากสนใจเข้าเยี่ยมชมหรือศึกษาดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีด ติดต่อได้ที่ คุณอรวรรณ วอทอง ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (คิงส์ฟาร์ม) เบอร์โทร. (098) 139-0108 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น เบอร์โทร. (043) 009-958

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_27689

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 30 ส.ค.60
วันที่โพสต์: 30/08/2560 เวลา 10:10:01 ดูภาพสไลด์โชว์ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กาฬสินธุ์ นำชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีด สร้างรายได้เดือนละล้านสู่ชุมชน