จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

ปลากะพงตัวขนาด 10 กิโล นอนอยู่บนถาดน้ำแข็ง ยังมีกุ้งแชบ๊วยขนาดเท่าฝ่ามือ ปูทะเล กั้ง รวมทั้งอาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลากุเลาเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ ฯลฯ

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของผลผลิตจากทะเลอันอุดมสมบูรณ์ ที่เกิดจากการทำประมงพื้นบ้านแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการทำงานอนุรักษ์ท้องทะเล ทำให้สามารถส่งผลิตภัณฑ์จากทะเลที่สดใหม่ได้คุณภาพ และปลอดสารเคมีมาให้กับผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ได้เลือกซื้อหากันในราคาที่เป็นธรรม

กำลังพูดถึง “โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์” โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 กระทั่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักอย่างคึกคักในหมู่ผู้บริโภคสายสุขภาพ ที่ก้าวเข้ามาเป็นแฟนเอฟซี ออเดอร์สินค้าผ่านทางออนไลน์ เพราะติดใจในคุณภาพ และมั่นใจในความเป็นสินค้าอินทรีย์ที่สดใหม่

จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้นำเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล เล่าให้ฟังว่า โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์เริ่มเมื่อปี 2556 วัตถุประสงค์คือ ต้องการโปรโมตตัวตนของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีวิถีที่อนุรักษ์ ใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำงานหนักมากในการที่จะดูแลชายฝั่งแทนคนไทย

เราตกลงใจที่จะเอาสิ่งที่ดีของเขา คือ “ปลา” มาเป็นสื่อที่สื่อสารกับผู้คนทั่วไป เพราะพอเราเอาปลาไปเปิดตลาด ทุกคนจะตื่นเต้นว่าปลามาจากไหน ทำไมสดขนาดนี้ เราก็มีโอกาสที่จะเล่าเรื่องราว แต่ทำไปได้สักพักก็พบว่ามีความต้องการจากผู้บริโภคสูงมาก และจากลูกค้าที่เป็นผู้บริโภครายเดี่ยวๆ กลายเป็นร้านอาหาร โรงแรม ที่เข้ามาให้ความสนใจสินค้าที่สามารถสืบสาวได้ว่ามาจากไหน

จากเดิมที่กำหนดให้ชาวประมงส่งสินค้าขึ้นมาจำหน่าย 3 เดือนครั้ง ตอนนี้สินค้าจะขึ้นมาทุกอาทิตย์

“แรกๆ เป้าหมายเศรษฐกิจของชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่พอสินค้าขึ้นมาทุกอาทิตย์ก็ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น มีรายได้ที่เป็นธรรม และตื่นเต้นที่ได้เอาปลาดีๆ มาให้คนกรุงเทพฯได้รับประทาน”

ฉะนั้นภายในระยะเวลา 4 ปี ทำให้เห็นเลยว่ามันมีความเจริญเติบโตที่จะให้การศึกษากับผู้คน เอาปลาดีๆ มาให้ผู้คนในสังคมกิน และมีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจชาวบ้านดีขึ้น

ชาวประมงหมู่บ้านหินลุ่ม ต.คลองเคียน จ.พังงา ออกร้านในงานวันมหาสมุทรโลก 2560

พลิกยุทธวิธีใหม่ หลังต่อสู้มากว่า20ปี

ประเทศไทยมีชายฝั่งยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ทะเลไทยยังเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่ดีเยี่ยม แต่จากบริบทการทำประมงที่ผิด ทำให้สัตว์น้ำและระบบนิเวศเสื่อมลง รวมทั้งการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ฯลฯ ทำให้ปริมาณปลาลดลง

ล่าสุด มีการขาย “ลูกปลาทู” ตากแห้ง ถุงโตถุงละ 50-80 บาท เทียบกับปลาทูตัวเต็มวัย 1 กิโลกรัม ได้ 10-11 ตัว แต่ถ้าเป็นลูกปลาทูได้มากถึง 1,000 ตัว

การทำประมงแบบผิดๆ เช่นนี้ ดร.สุภาภรณ์บอกว่า เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต่อสู้มากว่า 20 ปี แต่ไม่ก้าวไปข้างหน้า จึงมองว่าต้องเล่นมุมใหม่ ให้เห็นว่าชาวบ้านมี “ตัวตน” เพราะปลาที่เรากินกันมาจากหลายแหล่ง แต่ปลาที่มาจากการทำประมงในวิถีอนุรักษ์ ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม เราแทบไม่สำเหนียกถึงความสำคัญของพวกเขาเหล่านี้เลย เราจึงพยายามทำให้ผู้คนรู้จักชาวประมงที่เขาอนุรักษ์มากว่า 20 ปีแล้ว

“เขาขายปลาทูได้กิโลละ 20 บาท อีก 80 บาทคนกลางเอาไปกิน เรามองว่ามันไม่ใช่…

“สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ข้อนี้ แต่พอเรามาทำตรงนี้ กลายเป็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เงินที่ได้กลับไปก็ไปสู่ชุมชน เป็นสวัสดิการชุมชน”

จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

ดร.สุภาภรณ์บอก และเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า เนื่องจากทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินทำงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์มานาน จึงทราบดีว่าชุมชนไหนที่มีกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น มีกลุ่มออมทรัพย์ มีการรณรงค์เรื่องเกี่ยวกับทะเลมาอย่างยาวนาน หรือชุมชนไหนทำแพปลาชุมชน ฯลฯ ก็จะไปชักชวนเข้ามาอยู่ในโครงการ วัตถุประสงค์คือต้องการส่งเสริมคนเหล่านี้

“เราต้องการต่อยอดเพื่อให้เห็นว่าการทำประมงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกที่ควร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวประมงคนอื่นเห็นว่า ถ้าอยากจะทำอย่างนี้ต้องเริ่มอนุรักษ์ ต้องเริ่มฟื้นฟูทรัพยากรตัวเอง และหลังจากนั้นเราถึงจะไปต่อยอด”

ปัจจุบันเราขยายเครือข่ายถึง 7 จังหวัดแล้ว (พังงา กระบี่ สตูล เพชรบุรี สงขลา พัทลุง และปัตตานี) ปีที่แล้วส่งปลาขึ้นมาให้กับผู้บริโภคมากถึง 10 ตัน แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียง 4 คน แต่เรามีพี่น้องชาวประมงเป็นพันคนที่จะส่งปลามาจากในพื้นที่ โดยจะออกไปจับปลากันทุกวันพฤหัสบดี และส่งขึ้นมากรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ทำให้ตลาดมันดำเนินไปได้

ที่สำคัญคือ ชาวประมงเป็นผู้กำหนดราคา เพราะสินค้าเรามาจากธรรมชาติ เราไม่สามารถการันตีจำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละครั้งและขนาดของปลา แต่เราการันตีว่าปลาของเราไม่เล็กกว่ามาตรฐานแน่นอน และมีราคาเดียว

จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

ไม่ใช่แค่’ปลา’ แต่พาไปรู้จักวิถีผู้ผลิต

มองผาดๆ โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ทำให้คนเมืองได้รับประทานอาหารจากทะเลคุณภาพดีและปลอดภัย โดยที่ชาวประมงเองได้ราคาที่เป็นธรรม แต่ภารกิจที่คู่ขนานกันไป นุจรินทร์ เรืองสิวะกุล เจ้าหน้าที่การตลาดและจัดการ ห่วงโซ่อุปทาน อาหารทะเลออร์แกนิก มูลนิธิสายใยแผ่นดิน บอกว่า คือการพาผู้บริโภคไปเรียนรู้วิถีของชาวประมงในพื้นที่ โดยประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล (https://www.facebook.com/pla.organic)

“เพราะคิดว่าผู้บริโภคสำคัญมากในการอนุรักษ์ทะเล ถ้าเขารู้จักเลือกรับประทานก็จะส่งผลต่อไปเรื่อยๆ”

เพียงแค่ 3 ปีครึ่งของการทำโครงการนี้ นุจรินทร์บอกว่า เห็นได้ชัดเจนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ลูกค้าบางคนทั้งคนไทยและต่างชาติไม่เคยสนใจประมง ไม่เคยสนใจการอนุรักษ์ เดินเข้ามาหาเรามาถามว่าปลาเหล่านี้มาจากไหน พอบอกว่าจับด้วยประมงเรือเล็ก จะเข้ามาซักถามด้วยความสนใจ ขอตามลงพื้นที่ไปด้วย

บางคนเปลี่ยนวิถีการกินไปเลย บางคนป่วยเป็นมะเร็ง ทานเนื้อสัตว์ไม่ได้ ก็จะเดินเข้ามาหาเรา ด้วยความรู้สึกดีที่ได้ทานอาหารดีๆ และความสดที่สัมผัสได้ หลายคนเดินเข้ามาบอกว่าลูกทานกุ้งไม่ได้ แต่ทานกุ้งของเราได้ เพราะชาวประมงของเราจับสัตว์น้ำได้จะแพคน้ำแข็งส่งให้เราทันที

นอกจากการพาผู้บริโภคไปรู้จักชาวประมง ยังมีการรณรงค์ลดขยะ โดยผู้บริโภคที่มารับสินค้าถ้านำภาชนะมาใส่เอง เราลดราคาให้กิโลละ 10 บาท

จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

ขณะที่ สุวิมล พิริยธนาลัย เจ้าหน้าที่สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี บอกว่า ปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของภาคใต้ตอนล่าง มีชาวประมงพื้นบ้าน 52 หมู่บ้าน รวมกว่า 8 หมื่นคน ไม่เพียงในกรณีที่สถานการณ์ปะทุ ไม่สะดวกที่จะนำอาหารทะเลออกมาขายแล้ว ยังถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา

ปัญหาอวนรุนอวนลากเป็นปัญหาที่เจอมากว่า 30 ปี ต้องสู้เองมาโดยตลอด ไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร แต่มาช่วงหลังกับความพยายามที่จะฟื้นฟูรักษาทรัพยากรมาตลอด จนทุกอย่างฟื้นตัวขึ้น เกิดคำถามว่า ในเมื่อทรัพยากรฟื้นตัวขึ้น แต่ทำไมพี่น้องของเขายังจนเหมือนเดิม เมื่อค้นหาสาเหตุก็พบว่า เขาจับสัตว์น้ำได้เยอะขึ้น แต่ราคาไม่ขึ้น ประกอบกับปัจจัยการผลิตสูงขึ้น จึงหาวิธีทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ซึ่งนำมาสู่การแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรีย์เค็ม กะปิ ข้าวเกรียบปลา โดยรวบรวมความรู้จากภูมิปัญญาของคนแก่คนเฒ่า นำมาทดลองพัฒนามาเรื่อยๆ กว่าจะได้สูตรที่คงที่ใช้เวลาเกือบ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นของปากท้องและราคาที่เป็นธรรมแล้ว สุวิมลบอกว่า ลึกๆ แล้วหัวใจสำคัญ ไม่ใช่กลไกราคาที่ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ แต่เป็นความรู้สึกว่า “ตัวเองมีค่าและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

“ด้วยความที่เป็นมุสลิมมลายู ที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรม จะรู้สึกแปลกแยกกับสังคมกรุงเทพฯ ฉะนั้นเมื่อเข้ามาอยู่ร่วมในโครงการ และมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าปลาของเขาดี ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตรงนี้ด้วย”

จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

มองไปข้างหน้า

โครงการจบ แต่ชาวประมงต้องอยู่ได้

จนถึงวันนี้โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ดำเนินการมาถึงระยะที่ 2 นับเป็นเวลา 3 ปีเศษ ดร.สุภาภรณ์สรุปถึงผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจว่า…

ส่วนของชาวประมง โครงการนี้ทำให้ชาวประมงมีความภาคภูมิใจกับสินค้าของตนเอง เขารู้ว่าปลาเขาไปไหน รู้ว่าปลาเขาไปตอบโจทย์อะไรในสังคม รู้ว่าสิ่งที่เขาอนุรักษ์ไปมันตอบคืนเขามาในรูปที่ผู้บริโภครู้จักเขา รายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น และทำให้เขาสามารถมีรายได้ไปทำกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น

“ที่ผ่านมาความหวังเรื่องการประกอบอาชีพจบลงที่แพปลาเอกชนและมีแต่หนี้สิน แต่พอมาทำตรงนี้มันเห็นภาพว่าเขาสามารถเป็นเจ้าของ และรู้ว่าสินค้าเขาไปไหน”

สำหรับผู้บริโภค เห็นเลยว่าผู้บริโภคหลายคนที่รับประทานปลาเรา ให้ความสำคัญว่าสินค้ามาจากไหน ให้ความสำคัญกับชาวประมง ลงมาเยี่ยมชาวประมง เพราะเราจัดทัวร์ลงมาดูด้วย ผู้บริโภคก็เริ่มเรียนรู้มากขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของปลาเท่านั้น รวมไปถึงเรื่องของสภาพแวดล้อม เขาก็พาลูกมาคุยมาเรียนรู้กับเรา พาไปทัวร์กับเรา

ในเชิงสังคม สิ่งที่เราเห็นคือ มันมีการขยับเรื่องของอาหารทะเล แรกๆ เราเดินซุปเปอร์มาร์เก็ต ในหมวดอาหารทะเลไม่เคยระบุเลยว่าปลาของเขามาจากไหน แต่ตอนนี้มีระบุที่มา มันมีกระแสที่คนเริ่มให้ความสำคัญกับการรู้แหล่งที่มา และเชื่อว่าธุรกิจมองเราอยู่ แต่เขาสู้ไม่ได้ เราไม่ขายราคาส่ง เราขายในราคาเดียว ส่งโรงแรมก็ราคาเดียว พอเราเริ่มขยับในเชิงสินค้าคุณภาพ ทำให้ตลาดปลาจริงๆ ขยับเลย

อย่างไรก็ตาม ดร.สุภาภรณ์บอกว่า โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป แม้จะจบลงในปี 2561 แต่ชาวประมงยังต้องออกเรือทุกวัน สินค้ายังต้องมี เพื่อให้การทำงานตรงนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน จึงเตรียมจดทะเบียนเป็นบริษัทเพื่อสังคม

“เราจะจดเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม ‘ปลาออร์แกนิค วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เรามีสัมมนา 2 ครั้ง คุยกับพี่น้อง 7 จังหวัด ว่าโครงการกับอียูจะจบแล้วจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งแม้จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจไม่ได้ ก็จะจดเป็นบริษัทก่อน มีหุ้น 8 หุ้น 7 หุ้นเป็นชาวบ้าน 7 จังหวัด อีก 1 หุ้นเป็นมูลนิธิ”

สำหรับใครที่อยากรู้จัก ดร.สุภาภรณ์บอกว่า แวะเข้าไปทักทายกันได้ที่เว็บไซต์เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล (https://www.facebook.com/pla.organic)

________________________________________

www.facebook.com/nuch.anu เอื้อเฟื้อภาพประกอบ

จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง

ที่มา : หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน

ผู้เขียน : พนิดา สงวนเสรีวานิช

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/folkways/article_24474

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 ก.ค. 60
วันที่โพสต์: 27/07/2560 เวลา 11:19:22 ดูภาพสไลด์โชว์ จากงานวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม คืน ‘ตัวตน’ ให้คนประมง