เลิกเป็นครู ทำเกษตรตามรอยพ่อ ปลูกหอมแดง-กระเทียมอินทรีย์ แปรรูปเป็นสินค้าโกอินเตอร์

เลิกเป็นครู ทำเกษตรตามรอยพ่อ ปลูกหอมแดง-กระเทียมอินทรีย์ แปรรูปเป็นสินค้าโกอินเตอร์

จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าอินทรีย์ที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ คำว่า อินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก (Organic) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดกันอย่างแพร่หลาย สำหรับบ้านเรามีสินค้าที่เรียกตัวเองว่าเป็นอินทรีย์มากมายจนผู้บริโภคสับสน

จึงมีคำถามตามมาว่า…อินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก (Organic) ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร? แล้วใช้อะไรเป็นตัวตัดสิน? เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจหรือเชื่อมั่นได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติการผลิตสินค้าเกษตรของแต่ละแห่งทั่วโลกมีความต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งสภาพพื้นที่ ปัจจัยการผลิตหรือแม้วิธีและกระบวนการ ฉะนั้น คงไม่ง่ายหากสินค้าทางการเกษตรจากสถานที่แห่งหนึ่งของประเทศหนึ่งจะเป็นที่ยอมรับจากอีกประเทศที่ตั้งอยู่คนละทวีปของโลก

แต่สำหรับสินค้าทางการเกษตรของ “ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชนตำบลละทาย” จังหวัดศรีสะเกษ นำพืชผลทางการเกษตรในกลุ่มสมุนไพร อย่าง หอมแดง กระเทียม ที่เป็นพืชท้องถิ่นชื่อดังของจังหวัด รวมถึงพืชสมุนไพรสำคัญ อย่าง ขิง ข่า ตะไคร้ มาสร้างมูลค่าผ่านกระบวนการปลูกแบบอินทรีย์อย่างแท้จริง จนได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ได้มาตรฐานของประเทศ เพื่อเข้าสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ส่งขายยังประเทศเนเธอร์แลนด์ ในชื่อแบรนด์ “อรชัญ ออร์แกนิค” โดยมี คุณอรชัญ พันธ์วิไล และ คุณพ่อสมาน พันธ์วิไล (บิดา) อยู่บ้านเลขที่ 3/2 หมู่ที่ 4 ตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกันเป็นผู้บุกเบิก

คุณอรชัญและพ่อสมาน

เลิกเป็นครู กลับบ้านเกิด เพื่อทำเกษตรตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 จนสำเร็จ

คุณอรชัญ ซึ่งเดิมมีอาชีพเป็นครู คิดว่าถึงเวลาที่ต้องกลับมาบ้านเกิด เพื่อมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น และปลดภาระหนี้สิน จึงได้ทำเกษตรกรรมตามแนวทางทฤษฎีใหม่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 อันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของไร่สุขสมาน ที่เน้นปลูกพืชไม้ผลเชิงเดี่ยว อย่าง ข้าว อ้อย ปอ และแตงโม

เป็นเวลา 10 ปี ที่คุณอรชัญและคุณพ่อสมานร่วมกันทำกิจกรรมผ่านศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จ ทำให้ชีวิตครอบครัวตัวเองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากที่เคยประสบปัญหาหนี้สินก็สามารถปลดเปลื้องหนี้สินต่างๆ ออกได้หมด แล้วยังมีวิถีชีวิตที่มีความสุขจากการมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้มีเงินออม สิ่งเหล่านี้ได้ประสบกับตัวเองแล้วประจักษ์ว่าแนวทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมีความเป็นจริง

ภายหลังที่ได้สร้างรูปธรรมที่ชัดเจน จึงนำแนวทางนี้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้จากของจริง แล้วตั้งใจว่า ภายในเวลา 10 ปี จะนำพาชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการฝ่าด่านกำแพงความยากจนออกไป แล้วหากทำไม่สำเร็จจะยุบศูนย์เรียนรู้แล้วหันกลับไปทำอาชีพส่วนตัวอย่างเดียว

ชวนชาวบ้านร่วมกิจกรรมขายสินค้าเกษตรสร้างรายได้

แต่เพียง 3 ปี ภาพความสำเร็จเริ่มเห็นชัด เมื่อชาวบ้านทุกคนต่างให้ความสนใจให้ความร่วมมือเข้าร่วมกิจกรรมด้วยการนำสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่แต่ละรายปลูกไปขายในตลาดกันทรารมย์ แต่กลับพบปัญหาสินค้ามีมากเกินไปจนทำให้ราคาไม่สูงอย่างที่ตั้งเป้าไว้

เพาะกล้าพริกเพื่อรอปลูกในช่วงหน้าฝน

จากนั้นจึงไปปรึกษากับทางเกษตรและสหกรณ์จังหวัด แล้วหาทางออกด้วยการจัดตลาดเกษตรอินทรีย์ถนนคนเดิน พร้อมกับทางกลุ่มได้ปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการกำหนดให้สมาชิกกลุ่มแต่ละรายปลูกพืชไม่ซ้ำกัน แบ่งกันปลูก แล้วแยกหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็น คนปลูก คนเก็บ และคนขาย ออกจากกัน จึงทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น

(จากซ้าย)คุณสุริยา,พ่อสมาน,คุณอรชัญและจนท.เกษตรกันทรารมย์

พัฒนาคุณภาพสินค้าเป็นเกษตรอินทรีย์ ยกฐานะสู่ สินค้าโอท็อป

อย่างไรก็ตาม พบว่า ผลผลิตหอมแดง-กระเทียม ที่สมาชิกกลุ่มปลูกมีจำนวนมาก จึงต้องมีการคิดขยายตลาดออกไป จนนำไปสู่การสร้างมาตรฐานสินค้า พร้อมกับส่งเข้าแข่งขันโอท็อป (OTOP) แล้วได้เปิดตลาดคู่ขนานไปกับหน่วยงานราชการ จนทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ในแบรนด์ “อรชัญ ออร์แกนิค”

สินค้าตัวแรกที่ผลิตขายแบบแพ็กเก็ตติดแบรนด์คือ ข้าวกล้อง จากนั้นไม่นานได้เพิ่มมูลค่าสินค้าประจำถิ่น ด้วยการผลิตหอมแดง กระเทียม พริก ที่ปลูกทุกอย่างแบบอินทรีย์ แล้วได้มีโอกาสไปออกขายตามบู๊ธงานแสดงสินค้าทุกระดับทั่วประเทศ โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่กรุงเทพฯ ได้พบว่า สามารถขายสินค้าหมดเพียงวันเดียว จึงทำให้กลับมาคิดทบทวนหาแนวทางวางระบบการบริหารจัดการใหม่ เพื่อให้มีสินค้ามากพอสำหรับการขายในแต่ละงาน

พริกแห้งบรรจุใส่ถุงเตรียมส่งให้เลม่อนฟาร์ม

จึงได้เริ่มวางระบบกระบวนการปลูกให้มีประสิทธิภาพ ที่เน้นแนวทางอินทรีย์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนการผลิต แล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับแนวทางอินทรีย์ที่นำมาใช้ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก ฯลฯ

สินค้าที่มีจำหน่ายในประเทศ

เครื่องปอกกระเทียม ภูมิปัญญาจากพ่อสมาน

สร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง รุกสู่ตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกันจัดทำแผนการปลูกพืชชนิดต่างๆ เพื่อกำหนดจำนวนผลผลิตที่แน่นอนได้อย่างชัดเจน มีการจัดทำปฏิทินการปลูกพืชเพื่อกำหนดตารางเวลาปลูกที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบคุณภาพได้อย่างมาตรฐาน และผลจากแนวทางนี้นำมาสู่การได้รับใบรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้าจากหน่วยงานต่างๆ หลายประเภท

กระทั่งได้มีโอกาสก้าวสู่ระดับสากลด้วยการเจรจาทางการค้ากับบริษัทต่างประเทศที่สนใจสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม จนนำมาสู่การปลูกพืชที่มีชื่อของจังหวัด อย่าง หอมแดง กระเทียม รวมถึงพืชในกลุ่มเครื่องเทศ ไม่ว่าจะเป็นพริก ขิง ข่า ตะไคร้ ป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปในประเทศ เพื่อผลิตเป็นสินค้าหลายชนิดส่งขายที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

ขณะเดียวกันทางกลุ่มก็ยังไม่ทิ้งตลาดในประเทศและได้มีการผลิตสินค้าการเกษตรที่น่าสนใจ ได้แก่ พริก หอมแดง กระเทียม และข้าว (ไรซ์เบอร์รี่ หอมมะลิแดง หอมมะลิ 105 ข้าวเหนียวดำ) ตลอดจนพืชผักผลไม้อินทรีย์อีกหลายชนิดส่งให้แก่พันธมิตร อาทิ พลังบุญ เลม่อนฟาร์ม SMILE GREEN ออแกนิคฟาร์มเชียงใหม่ เป็นต้น

สินค้าแปรรูปที่ส่งขายต่างประเทศ

ปัจจุบัน “ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน ตำบลละทาย” มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 114 คน ผลตอบแทนที่สมาชิกได้รับคือ ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าเกษตรที่ปลูกได้ ตามออเดอร์ที่รับมาจากบริษัทแปรรูปสินค้าแล้ว จึงนำยอดสินค้าแต่ละรายการไปกระจายให้สมาชิกกลุ่มปลูกตามกำลังความสามารถของแต่ละราย จนเก็บผลผลิตทั้งหมดมารวมกันขาย ซึ่งจะมีการส่งสินค้าสัปดาห์ละครั้ง พอขายได้จึงนำรายได้มาแบ่งตามจำนวนที่แต่ละรายปลูก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ทุกสัปดาห์

คุณอรชัญ ชี้ว่า ผลจากกิจกรรมของกลุ่มช่วยทำให้เกิดรายได้ในครัวเรือนตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า โดยไม่ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างความอบอุ่นให้แก่ครอบครัว และเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางทฤษฎีใหม่อีกด้วย

“สมาชิกกลุ่มทุกคนเริ่มต้นมาจากการทำเกษตรกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 พวกเราภาคภูมิใจที่ได้เดินตามรอยของพระองค์ ทุกวันนี้พวกเรามีความสุขและอยู่อย่างสบายแบบไม่มีหนี้สิน เพราะแนวทางที่พระองค์ทรงวางไว้สามารถทำได้จริง ที่สำคัญผลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมกลุ่มยังพิสูจน์ให้เห็นว่าสินค้าทางการเกษตรของไทยจากจังหวัดศรีสะเกษได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่ามีคุณภาพมาตรฐานจริง” คุณอรชัญ กล่าว

สนใจสอบถามรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจากศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชนตำบลละทาย หรือต้องการเข้าเยี่ยมชมกิจกรรม ติดต่อได้ที่ คุณอรชัญ พันธ์วิไล โทรศัพท์ (089) 717-8774 fb:อรชัญ พันธ์วิไล

หรือต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเกษตร ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุริยา บุญเย็น นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ (045) 616-829, (062) 196-1377

ขอขอบคุณ : คุณอัครพล แสงอรุณ และ คุณอุรชา แสงอรุณ เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอกันทรารมย์ ที่อำนวยความสะดวก

ขอบคุณ... https://www.sentangsedtee.com/farming-trendy/article_35045

ที่มา: เส้นทางเศรษฐีออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 6 มิ.ย.60
วันที่โพสต์: 6/06/2560 เวลา 09:47:42 ดูภาพสไลด์โชว์ เลิกเป็นครู ทำเกษตรตามรอยพ่อ ปลูกหอมแดง-กระเทียมอินทรีย์ แปรรูปเป็นสินค้าโกอินเตอร์