มกอช. ทำเว็บไซต์เชื่อมโยงตลาด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เปิดพื้นที่ซื้อขาย ฟรี!

มกอช. ทำเว็บไซต์เชื่อมโยงตลาด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เปิดพื้นที่ซื้อขาย ฟรี!

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำเว็บไซต์ http://www.dgtfarm.com/ ตลาดแมทชิ่งออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงตลาดระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ทำการตลาดให้เป็นเรื่องง่าย

นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย ที่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ออกมาให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้ขายและกระจายสินค้าเกษตรและแปรรูปแก่ผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว ขยายฐานลูกค้าได้เป็นวงกว้างมากขึ้น เนื่องด้วยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ได้มีการจัดทำเว็บไซต์ ตลาดแมทชิ่งออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงตลาดระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยใช้ชื่อ http://www.dgtfarm.com/ ซึ่งจะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบ ในการซื้อขายสินค้าต่อไป

คุณกฤษ อุตตมะเวทิน เลขานุการกรม

ทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้รับเกียรติเชิญให้สัมภาษณ์ คุณกฤษ อุตตมะเวทิน เลขานุการกรม เป็นที่แรกเกี่ยวกับการเปิดตัวเว็บไซต์ http://www.dgtfarm.com/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อช่วยเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ

บทบาทหน้าที่ของ มกอช. หรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มกอช. เป็นหน่วยงานกลางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานระดับกรม ทำหน้าที่แทนกระทรวงเกี่ยวกับกระบวนการมาตรฐานสินค้าเกษตร Food safety อาหารปลอดภัยทั้งหมด

ความเป็นมาของการสร้างเว็บไซต์ http://www.dgtfarm.com/

สืบเนื่องจากที่เราพัฒนาภาคการเกษตรมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา โดยมากแล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นไปที่ภาคการผลิตเราสามารถเพิ่มคุณภาพการผลิต เราสามารถเพิ่มเทคโนโลยีและประสิทธิภาพในการผลิตได้มากแล้ว แต่ปัญหาที่เป็นเหมือนปัญหาอมตะของเราเลยคือ เรื่องของการตลาด ดังนั้น ในยุคสมัยปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีมันก้าวล้ำนำสมัยมากขึ้นก็เลยเป็นช่องทาง เป็นโอกาสที่เราจะเริ่มเข้าไปสู่ด้านการตลาดมากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการทำงานด้านการผลิตต่อไป เช่น เมื่อก่อนเราอาจจะพูดถึงแค่การผลิตให้มีคุณภาพ แต่เราไม่รู้จะไปขายที่ไหน แต่ตอนนี้เราใช้เทคโนโลยี ยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำระบบการตลาดออนไลน์ขึ้นมา ในเรื่องของการจับคู่ระหว่างผู้อยากขายและผู้อยากซื้อ ในชื่อของเว็บไซต์ http://www.dgtfarm.com/ ซึ่งมาจากคำว่า ดิจิตอลฟาร์ม

วามคืบหน้าและกำหนดการเปิดตัวเว็บไซต์

เว็บไซต์นี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งตอนนี้พัฒนาแล้วเสร็จในเฟสที่ 1 เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว ขณะนี้กำลังพัฒนาเฟส 2 เพื่อให้ครอบคลุมฟังก์ชั่นของการใช้งานให้มากขึ้น เฟสที่ 1 เหมือนการก่อสร้างขึ้นโครง เพื่อให้เกิดโครงสร้างในการพัฒนาจึงไม่ได้เปิดตัวในการใช้งาน แต่ในเฟสที่ 2 กำลังจะเสร็จในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เว็บไซต์จะเริ่มเปิดตัว ซึ่งเว็บไซต์นี้ใครก็สามารถใช้ได้ขอให้เป็นเกษตรกรที่สนใจในระบบคุณภาพก็ถือเป็นบันไดขั้นแรก อันนี้นับว่าจากตัวโปรแกรมเราใช้มาหลายปีแล้ว เราพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ฟรี เป็นการบริหารของภาครัฐที่สนับสนุนพี่น้องเกษตรกร และเรายังมีระบบอนุญาตนำเข้าและส่งออก ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร มกอช. เป็นตัวกลางเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งสำหรับสินค้าที่กฎหมายกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับ การนำเข้าส่งออกก็ต้องยอมรับกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้บริการนำเข้าส่งออกทางออนไลน์เลย นอกจากนั้น เราก็ยังมีศูนย์บริการไอที พัฒนาเพื่อรองรับกระบวนการให้ทันสมัยมากขึ้น

คิดว่าจะมีผู้เข้าร่วมเว็บไซต์มากน้อยขนาดไหน

ถ้าเปิดตัวคิดว่าน่าจะได้รับความสนใจมากทีเดียว ณ ปัจจุบันพื้นฐานของลูกค้าในเว็บไซต์ คือกลุ่มเกษตรกร กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ QR Trace อยู่แล้ว ซึ่งมีมากกว่า 1,000 ราย ที่เป็นสมาชิกของระบบ มกอช. อยู่ นอกจากนั้น ก็ยังมีเครือข่ายผู้ผลิตรวมแล้วเป็น 10,000 ราย ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ ถ้าหากว่าเราเปิดตัวแล้วทุกคนได้ร่วมกันมาใช้ ระบบบก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคุณกฤษยังอธิบายเพิ่มอีกว่า นอกจากฐานที่จะมาใช้ระบบเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ยังมีฐานของผู้ประกอบการซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงบริหาร เชิงบริหารภาครัฐ ในลักษณะประชารัฐ เช่น โมเดิร์นเทรด ผู้ส่งออก ซึ่งเป็นเครือข่ายของ มกอช. เหมือนกัน ก็สามารถมาใช้บริการเว็บไซต์แห่งนี้ได้ฟรี

มกอช. ทำเว็บไซต์เชื่อมโยงตลาด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เปิดพื้นที่ซื้อขาย ฟรี!

ภาพรวมขององค์การเกษตรถ้ามีเว็บไซต์ขึ้นมาแล้ว คาดหวังว่าจะพัฒนาไปได้ในระดับใด

ตัวเว็บไซต์ถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้คนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้ผลิต ถึงผู้บริโภคที่สนใจจะเข้าสู่กระบวนการการค้าในสินค้ามาตรฐาน เพราะว่าสินค้ามาตรฐานก็มีการผลิตอย่างกว้างขวาง แต่ผู้บริโภคอาจจะยังไม่รู้ ถ้าผู้บริโภคไม่รู้ ผู้ค้า ผู้ประกอบการอาจจะไม่ทำธุรกิจเสาะหาสินค้ามาจำหน่าย ดังนั้น เมื่อเราเอาสินค้าเหล่านั้นมารวมไว้ใน ลักษณะการทำงานคือท่านใดสนใจที่จะบริโภค ซื้อสินค้าไปจำหน่าย หรือใช้ ท่านก็สามารถระบุความสนใจ ความต้องการ ปริมาณ และระดับราคาที่สนใจลงไว้ในระบบ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะไปจับคู่กับข้อมูลการผลิต ข้อมูลการขาย ที่มีอยู่ในระบบจากเครือข่ายเกษตรกรของเรา ซึ่งมาจากแหล่งผลิตที่เรารับรองมาตรฐาน เมื่อระบบค้นเจอว่าใครตรงกับใครก็จะทำการแจ้งเตือนไปยังผู้ที่มีความต้องการเหมือนกัน ก็จะสามารถติดต่อค้าขายระหว่างกันได้ โดยที่ มกอช. มีทางเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลในชื่อของพนักงานเกษตรดิจิตอล ไว้คอยอำนวยความสะดวกในระยะต้นๆ ด้วย เพราะว่าอาจยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาจจะต้องช่วยกันหน่อย แต่ถ้าทุกคนรู้จักต่างเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกก็จะค่อยๆ ทำฐานข้อมูลนั้นใหญ่ขึ้น ระบบการทำงานก็จะครอบคลุมและแม่นยำขึ้นไปเรื่อยๆ ทำแบบนี้ก็ช่วยให้เกษตรกรมีความหวัง จากที่ต้องรอลูกค้าเจ้าเดิมๆ ก็อาจจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน พ่อค้าที่หาสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศหรือในประเทศ จากที่ไม่เคยรู้ว่าแหล่งผลิตอยู่ไหนก็จะกล้ารับจากตลาดเพราะจะมั่นใจว่าตัวเองหาสินค้าได้ง่ายขึ้น แต่ก็ย่อมดีกว่าถ้าหากท่านรู้ว่าผลไม้ถุงนี้มาจากที่ไหน ฟาร์มใด ท่านอาจจะไปเยี่ยมชมที่สวนยังได้ ถ้าเข้าเปิดให้เยี่ยมชมก็ยิ่งดี นี่คือประโยชน์ข้อกลาง ประโยชน์ข้อสุดท้ายที่คาดหวังเป็นจริงเป็นจังเลยคือลูกหลานของเกษตรกรที่เราพี่น้องเกษตรกรส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือแต่ลูกหลานก็ไม่ได้กลับมาช่วยที่บ้าน และเกิดหวั่นเกรงว่าอีกหน่อยใครจะมาปลูกข้าวให้เรากินทำผลไม้ให้เราซื้อหา เพราะลูกหลานเกษตรกรไม่มาเป็นเกษตรกร จะเป็นเกษตรกรทำไมงานก็เหนื่อย ไม่โก้ด้วย ค้าขายก็ลำบาก แต่ถ้าวันหนึ่งมีเครื่องมือนี้ช่วยทำการค้าลูกหลานที่ถูกส่งไปเรียนหนังสือมีความรู้ความสามารถมากขึ้นแล้วพบว่าตลาดมีอยู่ตรงนั้น มีความน่าสนใจ เขาก็นึกถึงแหล่งผลิตที่บ้านเขาได้ เราจะสร้างผู้ประกอบการเกษตรรายใหม่ จะเกิดธุรกิจใหม่ให้เกษตรกรในอนาคตได้นับจากยุค 4.0 เป็นต้นไป ถือว่าเป็นความพยายามในจุดเริ่มต้นที่เราสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

สำหรับผู้ผลิตหรือผู้ซื้อถ้าอยากเข้ามาตรงนี้ สามารถเข้ามาได้อย่างไร

เบื้องต้นวิธีการเข้ามาเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ ขณะนี้เน้นเรื่องของการตรวจสอบแหล่งที่มาของผู้ผลิตที่จะเข้าสู่ระบบ คือต้องมีความเชื่อมโยงกับการตรวจสอบของภาครัฐได้ เช่น เป็นเกษตรกรซึ่งได้รับรองมาตรฐานใดๆ ไว้ เช่น ได้มาตรฐาน GAP หรือเป็นเกษตรกรอยู่ในโครงการเกษตรอินทรีย์ เป็นสมาชิกของโครงการเกษตรแปลงใหญ่ หรือใช้ระบบ QR Trace ของ มกอช. ก็มีสิทธ์เป็นสมาชิก แต่ยังไม่ได้เปิดกว้างให้กับใครก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นบริการทางภาครัฐ กรมการเกษตร และ มกอช. พัฒนา ผู้ซื้อพ่อค้าและผู้บริโภคท่านสามารถเป็นสมาชิกได้เลย เพียงแต่ต้องลงทะเบียนในระบบ แจ้งข้อมูล ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ไหม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งสองฝ่าย

มกอช. ทำเว็บไซต์เชื่อมโยงตลาด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เปิดพื้นที่ซื้อขาย ฟรี!

มีโครงการใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยียุค 4.0 อย่างไรบ้าง

เทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบันก็คงจะหนีไม่พ้นการใช้ประโยชน์จากการสื่อสารในยุคอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รัฐบาลเองก็มีนโยบายที่จะให้ใช้ไอทีมากขึ้น เป็นองค์ประกอบของไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งอาจจะหมายความถึงหลายๆ อย่างที่ทันสมัยขึ้น แต่เรื่องไอทีก็ไม่ใช่ทั้งหมด เรื่องของการทำงานของเทคโนโลยีดิจิตอลในปัจจุบัน มกอช. เองก็พัฒนาและจัดระบบ เรียกว่าระบบ Traceability หรือระบบตามสอบย้อนกลับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตรวจสอบคุณภาพ แหล่งกำเนิด ที่มาของการผลิต เราเรียกว่าระบบ QR Trace ระบบนี้ผู้บริโภคสามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกนไปที่คิวอาร์โค้ดที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ แล้วทราบได้เลยว่าผลิตมาจากฟาร์มใด ได้รับเครื่องหมายรับรองใด มีมาตรฐานคุณภาพการผลิตแบบใด มีสตอรี่ในการผลิตมาอย่างไร รวมถึงข้อมูลหลากหลายอย่าง แม้กระทั่งโลเคชั่น แหล่งผลิตอยู่ตรงไหนก็สามารถตรวจสอบได้ ทีนี้ภาพที่แสดงออกมาจาก QR code อาจจะเหมือนที่ใช้กันทั่วไป แต่จริงๆ เบื้องหลังที่อยู่คือผู้ผลิตได้บันทึกข้อมูล แหล่งผลิต คุณสมบัติของสินค้านั้นๆ เอาไว้หากเกิดปัญหาขึ้นกับสินค้าในล็อตนั้นๆ ผู้บริโภคสามารถป้องกันได้ ผู้ผลิตก็ป้องกันขีดความเสียหายได้ ภาคราชการเองก็สามารถขีดวงปัญหา ตรวจสอบจนเจอต้นตอของปัญหาได้รวดเร็วขึ้น

เชิญชวนสำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้ามาดูเว็บไซต์

ฝากถึงพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคที่สนใจ เข้ามาทดลองใช้ อาจจะเจอข้อบกพร่องบ้าง สามารถแจ้งเข้ามาได้ เรายินดีพัฒนาปรับปรุง ขั้นแรกขอเชิญพี่น้องเกษตรกรท่านเข้ามาสมัครเถอะครับถ้าท่านมีคุณสมบัติตรงคือ อยู่ในโครงการเกษตรแปลงใหญ่ อยู่ในโครงการเกษตรอินทรีย์ มีการผลิตคุณภาพมาตรฐานหรือใช้ระบบรับรอง QR Trace มกอช. เปรียบเสมือนท่านมาเปิดแผงเตรียมตัวค้าขาย ร้านนี้เปิดเมื่อไร ถ้าผู้บริโภค ผู้ประกอบการมาเดินซื้อเยอะในระบบ ท่านก็จะมีโอกาสเปิดตลาดได้มากขึ้น โฆษณาฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็สามารถทำได้ ส่วนผู้ประกอบการ ผู้ค้าเมื่อก่อนอาจจะต้องไปวิ่งหาตามสวน ตอนนี้ไม่ต้องไปแล้ว ถูกใจก็ติดต่อกันผ่านเว็บไซต์ สะดวก ง่าย ลดต้นทุน หรือรายเล็กเมื่อก่อนอาจไปแย่งซื้อของรายใหญ่ไม่ทัน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว ท่านสามารถเจอแหล่งผลิตของท่านได้ง่ายขึ้น ส่วนรายใหญ่ถ้าท่านยังค้าขายแบบเดิมไม่พัฒนาอันนี้ท่านก็ลำบากล่ะ เพราะรายเล็กเขาก็จะมาช่วยกันซื้อ อาจจะฟังดูแล้วคนโน้นได้คนนี้เสีย แต่รวมๆ แล้วประเทศได้

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_20560

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 5 มิ.ย.60
วันที่โพสต์: 5/06/2560 เวลา 10:02:41 ดูภาพสไลด์โชว์ มกอช. ทำเว็บไซต์เชื่อมโยงตลาด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เปิดพื้นที่ซื้อขาย ฟรี!