ส้มปลาอีตู๋ สุดยอดของฝากจากโขงเจียม

ส้มปลาอีตู๋ สุดยอดของฝากจากโขงเจียม

อำเภอโขงเจียม เป็นอำเภอที่อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของสถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด และยังเป็นอำเภอชายแดนที่ติดกับลาวใต้

อุบลราชธานี นับว่าเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล รวมกันเป็นแม่น้ำสองสี พร้อมทั้งยังมีเขื่อนสิรินธร ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีปลาสดๆ จำนวนมาก หากนำไปเป็นของฝากก็จะอยู่ได้ไม่นานเกิดการเน่าเสียง่าย

ต่อมาจึงมีการริเริ่มแปรรูปอาหารจากปลา โดยต่อยอดจากกลุ่มแม่บ้านที่ผลิตปลาร้า (ปลาอีตู๋) รสชาติเยี่ยม มาแปรรูปเป็นแจ่วบอง พัฒนาสูตรมาเรื่อยๆ จนได้รับคัดสรรเป็นสินค้า ระดับ 5 ดาว จึงนับว่าเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของคนในชุมชนก็ว่าได้

พร้อมกันนี้ชาวบ้านในย่านนี้ นำโดย คุณวายุรี บุญไทย อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ที่ 2 ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ได้เป็นผู้คิดริเริ่มเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ภายใต้แบรนด์ “ปลาอีตู๋” จนเป็นของขึ้นชื่อในจังหวัด จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ากล่าวถึงเมื่อผ่านมายังอำเภอโขงเจียม

คุณวายุรี บุญไทย

จากข้าราชการครู ผันชีวิตสร้างสินค้าแปรรูป

คุณวายุรี สาววัยเกษียณผู้มีอัธยาศัยยิ้มแย้มแจ่มใส เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพรับราชการครู ต่อมาประมาณ ปี 2547 จึงได้เกษียณก่อนเวลาจากการรับราชการ เพราะต้องออกมาดูแลคุณแม่และสามีซึ่งกำลังป่วยอยู่ในขณะนั้น ซึ่งในช่วงนั้นก็ยังไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างอื่นอย่างจริงจัง

เมื่อผ่านเข้าสู่ปี 2550 ได้เล็งเห็นว่าอำเภอโขงเจียม เป็นอำเภอที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่หน่วยงานต่างๆ ใช้ที่พักตามโรงแรมเป็นที่จัดอบรมสัมมนาอีกด้วย

“ช่วงนั้นเราก็ยังไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร ก็อยู่แบบพออยู่พอกินไปก่อน พอมาอยู่บ้านได้ประมาณ 3 ปี ก็เห็นว่าที่นี่มันเหมือนเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีเรื่องของฝากที่ขึ้นชื่อของอำเภอ ก็ได้มองเห็นโอกาสในจุดนี้ จึงได้ชวนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มารวมกลุ่มกัน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตสินค้าแปรรูปเป็นของฝากของโขงเจียมขึ้น” คุณวายุรี เล่าถึงที่มา

เนื่องจากในพื้นที่ของอำเภอโขงเจียมมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงฤดูฝนจะมีปลาค่อนข้างชุกชุม คือ ปลาอีตู๋ (ปลากาดำ) โดยจะนำปลาเหล่านั้นมาประกอบอาหารที่หลากหลายเมนู และเมื่อปลามีจำนวนที่มากเกินพอกว่าจะนำมากินไหว ก็จะต้องนำมาถนอมอาหารสามารถเก็บไว้กินได้ตลอดทั้งปี เช่น การทำปลาร้า และการทำเป็นแจ่วบอง จึงได้นำภูมิปัญญาเหล่านี้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ใช้ปลาอีตู๋ จากแหล่งน้ำธรรมชาติ

ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีปลาอีตู๋ชุกชุมมากที่สุดในแม่น้ำโขง ก็จะค่อนข้างหาวัตถุดิบได้ง่าย โดยจะนำมาทำเป็นปลาร้าเก็บไว้ และช่วงที่วัตถุดิบในพื้นที่หายากก็จะติดต่อขอซื้อมาจากแหล่งอื่น เช่น แม่น้ำมูล และเขื่อนสิรินธร

ปลาอีตู๋ (ปลากาดำ)

“ช่วงแรกของการตั้งกลุ่ม ก็จะทำผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ก็คือ การทำปลาร้า เราก็จะเอาปลาร้าพวกนั้นมาทำเป็นแจ่วบอง ต่อมาคิดว่าเราจะมีผลิตภัณฑ์อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีอย่างอื่นด้วยเพื่อให้มีความหลากหลาย ก็เลยนำมาต่อยอดทำเป็นปลาส้ม ส่วนไข่ก็นำมาทำเป็นส้มไข่ปลา ก็ถือว่าเป็นสินค้าที่มีผลตอบรับดี โดยเฉพาะส้มปลาอีตู๋ที่เราได้คิดค้นสูตรขึ้น จนเป็นที่ขึ้นชื่อในจังหวัด เมื่อใครมาที่โขงเจียมผลิตภัณฑ์ของเราจึงเป็นสิ่งที่ลูกค้ากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ” คุณวายุรี บอกถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์

หลักการทำส้มปลาอีตู๋ให้อร่อยนั้น คุณวายุรี บอกว่า มีเคล็ดลับและวิธีการทำง่ายๆ ดังนี้ คือ ขั้นตอนแรก นำปลาอีตู๋มาขอดเกล็ดออกให้หมด จากนั้นนำมาชำแหละและล้างให้สะอาด แล้วนำส่วนต่างๆ หั่นเป็นชิ้นมาหมักในส่วนผสมให้เข้ากัน

ขอดเกล็ดทำความสะอาด

โดยส่วนผสมของการทำปลาส้มหลักๆ จะประกอบด้วย เนื้อปลาอีตู๋ ข้าวสวยหรือข้าวเหนียวที่สุก กระเทียม และเกลือ

“วิธีการทำก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก ถ้าเป็นเราทำกินกันเองก็ชิมรสได้ตามใจชอบ แต่ที่นี่ทำเป็นการค้าเราก็จะมีสูตรตายตัว คือ ใช้ปลาอีตู๋ 15 กิโลกรัม ข้าวสุก 1 กิโลกรัม เกลือ 400 กรัม และกระเทียมที่ตำแหลก 2 กิโลกรัม จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เสร็จแล้วนำแพ็กใส่ถุงที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน เนื้อปลาก็จะเริ่มเปรี้ยวเป็นปลาส้ม สามารถเก็บใส่ตู้เย็นไว้กินได้เป็นเดือนๆ” คุณวายุรี บอกถึงสูตรการทำปลาส้ม

ขั้นตอนการทำปลาส้ม

การบรรจุภัณฑ์

ส้มปลาอีตู๋ สุดยอดของฝากจากโขงเจียม

ในช่วงแรกที่เริ่มทำสินค้าแปรรูปใหม่ๆ คุณวายุรี บอกว่า สินค้ายังไม่เป็นที่รู้จักของลูกค้ามากนัก จึงค่อนข้างขายได้ยาก แล้วได้ทดลองขายให้กับเพื่อนครูด้วยกันที่รู้จักก่อน เพื่อให้สินค้าทั้งหมดเป็นที่รู้จัก ทั้งนำสินค้าไปขายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยเช็กจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้อบรมสัมมนาตามโรงแรมที่มีการอบรมสัมมนา โดยจะเลือกดูอายุ อาชีพของลูกค้า รวมถึงการออกบู๊ธที่หน่วยงานของรัฐจัดขึ้นอีกด้วย

“เราเน้นทำตลาดแบบให้คนรู้จักมากที่สุด ไม่ว่าจะมีคนมาสัมมนาที่ไหนเราก็ต้องไป เพราะอย่ารอให้เขามาหาเรา การตลาดพอคนรู้จักมากขึ้น ตัวสินค้าจะขายตัวเอง พอสินค้าเป็นที่รู้จักก็จะมีคนสนใจมาหาซื้อ ก็ทำให้เราสามารถขายสินค้าได้เยอะขึ้น ซึ่งราคาขายของส้มปลาอีตู๋ ก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท และสำหรับคนที่อยู่ตามต่างจังหวัดก็สามารถสั่งซื้อได้ เรามีบริการส่งทางไปรษณีย์ของก็สามารถถึงลูกค้าได้เช่นกัน” คุณวายุรี เล่าถึงหลักการทำตลาด

นอกจากปลาส้มปลาอีตู๋แล้ว ภายในวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาบ้านด่านใหม่ ยังมีสินค้าให้เลือกซื้อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลาร้า แจ่วบอง (เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก โดยการแปรรูปจากปลาร้าปลาอีตู๋มาเป็นแจ่วบอง โดยใช้วิธีผัดสุก) ส้มปลาปึ่ง (ปลาเทโพ) ส้มปลาปาก (ปลาตะเพียน) ส้มไข่ปลา เค็มบักนัด (เป็นการหมักเกลือระหว่างสับปะรดและเนื้อปลาเทโพ เป็นอาหารประจำจังหวัดอุบลราชธานี) สนใจสินค้าตัวไหนก็สามารถติดต่อสอบถาม และรอรับสินค้ามาส่งถึงบ้านได้กันเลยทีเดียว

น้ำปลาร้า

แจ่วบอง

คุณวายุรี บอกว่า เมื่อได้มาทำงานด้านนี้นับว่ามีความสุขมากกับสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ เพราะมีเวลาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และที่สำคัญได้รู้จักผู้คนมากขึ้น จึงทำให้ได้เดินทางท่องเที่ยว มีเวลาได้ใช้ชีวิตในวัยเกษียณแบบมีความสุข

“สำหรับผู้ที่กำลังจะเกษียณหรือเป็นวัยเกษียณแล้ว การหาสิ่งต่างๆ ทำ ถือว่าเป็นสิ่งที่คลายเหงาได้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องการเกษตรหรือกิจกรรมอื่น ที่จะทำให้เราได้มีเพื่อนคุย ได้พบเจอกับคนอื่นมากขึ้น เหมือนฉันเวลานี้ ที่ได้ไปขายของ ก็รู้สึกดี ได้พบเจอเพื่อน ได้ประสบการณ์ความรู้จากลูกค้ามากขึ้น นอกจากความสุขที่ได้แล้ว เรายังมีรายได้เสริมอีกด้วย เมื่อมีการรวมกลุ่มก็ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเรา ก็สามารถนำรายได้เหล่านั้นมาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ทุกคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องไปหางานที่อื่นทำ สามารถประกอบอาชีพอยู่กับบ้านได้” คุณวายุรี กล่าวเสริม

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวายุรี บุญไทย หมายเลขโทรศัพท์ (081) 389-9562 หรือ หน้าเพจร้าน Facebook : OTOP โขงเจียม

ขอขอบคุณ : คุณวิไล อุตส่าห์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/marketing/article_18741

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 11 พ.ค.60
วันที่โพสต์: 11/05/2560 เวลา 10:01:06 ดูภาพสไลด์โชว์ ส้มปลาอีตู๋ สุดยอดของฝากจากโขงเจียม