สองสามีภรรยา ชาวบึงกาฬ ปลูกสตรอเบอรี่ ในสวนยาง โกยรายได้งาม 300,000 บาท/ปี

สองสามีภรรยา ชาวบึงกาฬ ปลูกสตรอเบอรี่ ในสวนยาง โกยรายได้งาม 300,000 บาท/ปี

ทุกวันนี้ “สตรอเบอรี่” กลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าจับตามองมากที่สุด เพราะเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน เกษตรกรเจ้าของสวนยางพาราหลายรายนิยมปลูก “สตรอเบอรี่” เป็นพืชเสริมรายได้ในสวนยาง เพราะสตรอเบอรี่เป็นไม้ผลยอดนิยมในท้องตลาด ขายได้ราคาดี ขายได้ทั้งผลสด ต้นพันธุ์ ฯลฯ เรียกว่ารับทรัพย์ได้เป็นกอบเป็นกำ

ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับ “คุณแต๋ง” ประภัสสร สายวรรณ์ และ “คุณเอส” อำไพร พลไตร สองสามีภรรยาเจ้าของ “สวนสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ” ซึ่งเป็นสวนสตรอเบอรี่แห่งแรกที่ปลูกกลางป่าสวนยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ ทั้งคู่ยืนยันว่า ยอดขายสตรอเบอรี่เติบโตสูงมาก ทั้งตลาดผลสดและต้นพันธุ์ ยอดสั่งซื้อไม่ได้เฉพาะพื้นที่ภาคอีสานเท่านั้น แต่มาจากทั่วประเทศเลยทีเดียว

คุณแต๋ง-ประภัสสร สายวรรณ์ กับ คุณเอส-อำไพร พลไตร สองสามีภรรยา เจ้าของ “สวนสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ”

คุณแต๋ง เล่าให้ฟังว่า เธอเกิดและเติบโตในจังหวัดหนองบัวลำภู เรียนจบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หลังแต่งงานได้ย้ายถิ่นมาช่วยสามีดูแลกิจการสวนยาง เนื้อที่ 100 ไร่ ในพื้นที่อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ มีรายได้จากการทำสวนยาง ประมาณเดือนละ 30,000-40,000 บาท

เมื่อปี 2556 เกิดปัญหาราคายางตกต่ำ เธอจึงมองหาพืชตัวอื่นมาปลูกเสริมรายได้ในสวนยางพาราต้นเล็กอายุ 3 ปี เนื้อที่ 4 ไร่ บังเอิญเธอเคยช่วยแม่ปลูกสตรอเบอรี่ที่จังหวัดหนองบัวลำภูมาก่อน จึงนำไหลสตรอเบอรี่ จำนวน 23 ต้น มาปลูกกลางร่องสวนยางพารา เนื้อที่ 1 ไร่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 โดยใช้วิธีไถพรวน พร้อมโรยปูนขาว และฉีดพ่นเชื้อไตโครเดอร์ม่ารองก้นหลุมก่อนปลูก หลังปลูกคอยดูแลถอนหญ้าตามปกติ

ปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์โชกุน ในสวนยาง

ต้นสตรอเบอรี่เริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรกในเดือนมีนาคม 2557 เธอกล้าการันตีว่า สตรอเบอรี่ของเธอนี้มีรสชาติหวานฉ่ำที่สุดในประเทศไทย หลังจากทดลองให้หลายๆ คนทดลองชิมเปรียบเทียบรสชาติสตรอเบอรี่ที่ปลูกกลางร่องสวนยางพารากับสตรอเบอรี่ที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ ผลสตรอเบอรี่จากหนองบัวลำภู ทุกคนต่างยอมรับว่า สตรอเบอรี่ที่ปลูกในสวนยางพาราแห่งนี้มีรสชาติหวานฉ่ำกว่าที่อื่นจริงๆ

พีทมอสส์…ตัวช่วยเพิ่มรสอร่อย

หลายคนคงสงสัยว่า เคล็ดลับความอร่อยอยู่ตรงไหน เธอให้คำตอบว่า เพราะดินในสวนยางพารามีตัวช่วยสำคัญคือ “พีทมอสส์” นั่นเอง “พีทมอสส์” เป็นพืชสีเขียวชนิดหนึ่งที่เติบโตปกคลุมผิวดินในช่วงฤดูฝน หากสวนยางพาราแห่งไหนมีพีทมอสส์ในแปลงปลูก ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเยอะ เพราะพีทมอสส์เปรียบเสมือนปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพอยู่แล้ว

เธอเล่าว่า พื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ของครอบครัวตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ส่วนแปลงสวนยางพาราที่ใช้ปลูกสตรอเบอรี่แห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ สภาพดินชุ่มน้ำ เคยใช้ปลูกข้าวมาก่อนจะปรับมาเป็นสวนยางพาราจนถึงทุกวันนี้ เวลาฝนตก จะชะล้างหน้าดินที่มีพีทมอสส์จากแปลงสวนยางที่อยู่ด้านบนลงมาด้วย เท่ากับเติมปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพให้กับพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี รสชาติอร่อยโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด หลังจากทดลองปลูกสตรอเบอรี่รุ่นแรกประสบความสำเร็จ ทำให้เธอเกิดกำลังใจที่จะลงทุนขยายพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่ 1,000 ต้น ภายในเดือนมีนาคม 2557 และปลูกเพิ่มเป็น 5,000 ต้น ในเวลาต่อมา

มุมสวยๆ ที่จัดไว้ถ่ายเซลฟี่กับแปลงสตรอเบอรี่ในสวนยาง

เมื่อ 3 ปีก่อน เธอเริ่มต้นทำสวนสตรอเบอรี่เล็กๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมในสวนยาง แต่ ณ วันนี้ “สตรอเบอรี่” กลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว เมื่อปีที่แล้ว หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือผลกำไรก้อนโตจากสวนสตรอเบอรี่ถึง 300,000 บาท

“ทุกวันนี้ ครอบครัวเรามีรายได้จากสวนสตรอเบอรี่ตลอดทั้งปี ยอดขายต่ำสุด เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท ช่วงขายดี เคยทำรายได้สูงสุดถึงเดือนละ 130,000 บาท ก็เคยเจอมาแล้ว (เดือนมกราคม 2560) ขณะที่ “สวนยาง” กลายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวไปเสียแล้ว” คุณแต๋ง กล่าว

ผลกำไรก้อนโต จาก “สตรอเบอรี่”

“สตรอเบอรี่” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้สูง ถึง 5 ช่องทาง คือ “ผลสตรอเบอรี่สด” ขายได้ราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท ผลผลิตตกเกรดจะถูกนำไปแปรรูปเป็น “น้ำสตรอเบอรี่ และแยมสตรอเบอรี่” ออกจำหน่าย ส่วน “ไหลสตรอเบอรี่” ขายต้นละ 10 บาท “ต้นสตรอเบอรี่ที่กำลังผลิดอกออกผล” ขายต้นละ 150 บาท ส่วน สตรอเบอรี่ต้นอ่อน ที่ยังไม่มีผลผลิต ขายต้นละ 50 บาท

สตรอเบอรี่ลูกโต เนื้อฉ่ำ ขายกิโลกรัมละ 300 บาท

ปัจจุบัน สวนแห่งนี้จำหน่ายต้นสตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80 พันธุ์ 329 และพันธุ์โชกุน ที่มีคุณภาพดี ลำต้นแข็งแรง ใบสีเขียวเข้ม จึงเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของเกษตรกรในวงกว้าง เพราะคุณแต๋งปลูกขยายพันธุ์ได้เองในท้องถิ่น ต้นสตรอเบอรี่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าต้นพันธุ์ที่มาจากภาคเหนือ ที่มีใบเขียวอ่อน เมื่อนำมาปลูกจะไม่ต้านทานโรคเท่าที่ควร

เคล็ดลับ ผลิต “ไหลสตรอเบอรี่” คุณภาพดี

“ไหลสตรอเบอรี่” ของ “สวนสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ” ขายดีเป็นที่ต้องการของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพราะผลิตจากแม่พันธุ์ไหลคุณภาพดี ในระยะเวลาที่เหมาะสม คือช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยทั่วไปต้นสตรอเบอรี่มักมีปัญหาเรื่องเชื้อราเยอะมาก เช่น ราขาว ซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า คุณแต๋งจึงมุ่งคัดเลือกแม่พันธุ์ที่มีลักษณะลำต้นใหญ่ ใบเขียวเข้ม ที่สำคัญต้องเป็น “ไหลแรกที่ไม่โดนดิน” เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลติดเชื้อราจากดินในแปลงปลูก

ไหล สตรอเบอรี่ เนื้อเยื่อไหลแรก กอใหญ่ ต้นใหญ่ ให้ผลผลิตดี

หลังจากคัดเลือกแม่พันธุ์ที่ต้องการได้แล้ว คุณแต๋งจะนำวัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของ ขุยมะพร้าว 70% และดิน 30% ไปรองใต้ไหลเนื้อเยื่อแรกเพื่อกระตุ้นให้เกิดตาดอกและเกิดรากโผล่พ้นผิวดิน หลังจากนั้นจึงค่อยตัดไหลไปเลี้ยงต่อในถุงดำก่อนส่งขายให้ลูกค้า (นำดินจากภายนอกมาใส่ถุงดำ เพราะหมดฤดูปลูก ดินในแปลงปลูกไม่น่าจะมีสารอาหารเหลืออยู่แล้ว)

เมื่อลูกค้านำไหลสตรอเบอรี่ เนื้อเยื่อไหลแรกไปปลูกลงดิน จะได้ต้นสตรอเบอรี่กอใหญ่ ที่ให้ผลผลิตดก คุณภาพดีสุด คุ้มค่ากับการลงทุน คุณแต๋งแนะนำให้เกษตรกรเลือกปลูกไหลสตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80 เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศภาคอีสาน สตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80 ลำต้นใหญ่ แข็งแรง มีไหลต่อ 2, 3, 4 ไหล ติดออกมาด้วย ภายใน 1 ถุง จะได้ต้นไหลที่ติดรากลงดินในถุงดำเป็นส่วนของไหลแรก หรือไหลที่ 1 ส่วนไหล 2-4 จะติดจากไหลแรก เรายกให้ฟรี ต้นไหลที่ติดมาในแต่ละถุงจะได้มากหรือน้อยคือกำไรของลูกค้า เราคิดราคาเฉพาะไหลแรกที่ลงถุงดำเท่านั้น

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ บ้านโสกบง

ปัจจุบัน คุณแต๋ง และคุณเอส เป็นแกนนำจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ บ้านโสกบง” มีสมาชิกเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในจังหวัดบึงกาฬ กาฬสินธุ์ สกลนคร เลย ตราด ลพบุรี เชียงราย ชุมพร สุราษฎร์ธานี เครือข่ายสมาชิกวิสาหกิจฯ แห่งนี้ จะแลกเปลี่ยนความรู้การปลูก-การตลาด และเชื่อมโยงธุรกิจการค้าร่วมกัน เช่น การขายสตรอเบอรี่ผลสด ไหล ต้นสตรอเบอรี่และผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายรายการ

ปัจจุบัน ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ใช้เฟซบุ๊กและไลน์เป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารในกลุ่มสมาชิก หากเจอปัญหาผลผลิตล้นตลาด หรือสินค้าขาดตลาด สมาชิกก็จะช่วยกระจายสินค้าหรือหาสินค้าตัวที่ขาดเข้ามาเสริมในจุดที่มีปัญหาทันที ทำให้เครือข่ายวิสาหกิจฯ แห่งนี้มีระบบการตลาดที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่าง เช่น ยอดสั่งซื้อไหลเข้ามามาก จนผลิตสินค้าได้ไม่ทัน จะกระจายออเดอร์ให้กับสมาชิกในเครือที่อยู่ในทำเลที่ตั้งเดียวกับลูกค้าเป็นคนส่งสินค้าให้แทน

สตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80

“พื้นที่ภาคเหนือ มีอากาศหนาวตั้งแต่ช่วงปลายปี ทำให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเร็วกว่าสตรอเบอรี่ที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน ประมาณ 1 เดือน เมื่อสตรอเบอรี่บึงกาฬเข้าสู่ตลาด (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) สตรอเบอรี่ภาคเหนือก็เริ่มหมดแล้ว ทำให้เกษตรกรบึงกาฬสามารถขายผลสตรอเบอรี่สดได้ในราคาสูง ส่วนสตรอเบอรี่ที่ปลูกในพื้นที่ภาคใต้ก็มีผลผลิตล่ากว่าที่สตรอเบอรี่อีสาน ประมาณ 1 เดือน โดยเริ่มมีผลผลิตเข้าสู่ตลาด ตั้งแต่มีนาคม-พฤษภาคม” คุณแต๋ง กล่าว

ปัจจุบัน “สวนสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ” เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเกษตรกรในเรื่องการปลูกสตรอเบอรี่และไม้ผลตระกูลเบอรี่ เช่น ราสป์เบอรี่ แบล็กเบอรี่ แบล็กเคอร์แรนต์ แครนเบอรี่ เชอร์รี่หวาน บลูเบอรี่ เป็นต้น หากใครมีโอกาสผ่านมาทางอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ สามารถแวะชม “สวนสตรอเบอร์รี่ สุขสมใจ” ได้ทุกวัน สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ เลขที่ 141 หมู่ที่ 5 ตำบลนาดง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ สนใจสอบถามข้อมูลหรือสั่งซื้อไหลสตรอเบอรี่ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (095) 169-7748 (คุณแต๋ง) และ (088) 560-6941 (คุณเอส) รับรองไม่ผิดหวังแน่

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_16795

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 เม.ย.60
วันที่โพสต์: 19/04/2560 เวลา 10:50:19 ดูภาพสไลด์โชว์ สองสามีภรรยา ชาวบึงกาฬ ปลูกสตรอเบอรี่ ในสวนยาง โกยรายได้งาม 300,000 บาท/ปี