‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’

‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดน่านอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ทรงห่วงใยและเล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ให้คืนสู่ความสมดุลโดยเร็วที่สุด

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และธนาคารกสิกรไทย ร่วมมือกันจัดประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 3” ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน จ.น่าน เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดความตระหนักและร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ของ จ.น่าน ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย” ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ไทยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า เท่าที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไปตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย ได้สังเกตว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ตามเสด็จไปด้วย ทั้งป่าไม้ งานเกษตร ชลประทาน พัฒนาที่ดิน กรมแผนที่ทหาร สะท้อนให้เห็นว่า การทำงานเพื่อความผาสุกของราษฎร ไม่ใช่ว่าพวกใดพวกหนึ่งจะทำได้โดยไม่ปรึกษาคนอื่น

จากนั้นรับสั่งถึงแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ดังนี้

-ป่าไม้สาธิต-ป่าทดลองส่วนพระองค์แห่งแรก

“เมื่อต้นรัชกาล พระองค์เสด็จฯแปรพระราชฐานไปวังไกลกังวล ขณะเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งผ่าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ทรงสังเกตเห็นต้นยางนาขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายทั้งสองข้างทาง จึงมีพระราชดำริที่จะสงวนไม้ยางนาไว้ โดยทรงให้นำเมล็ดไม้ยางนามาเพาะเลี้ยงไว้ที่แปลงเพาะชำ ณ บริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกเพิ่มเติมในลักษณะป่าไม้สาธิต เช่น หวายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งต้นไม้ที่อยู่ในวังมานานแล้ว เช่น ขนุนทักษิณ เป็นการจำลองป่าไม้เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาได้”

-ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แนวพระราชดำริการฟื้นฟูป่าของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า “น่าสนใจ” คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ศูนย์ทั่วประเทศ รับสั่งว่า ทั้ง 6 ศูนย์อยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดยเอาพื้นที่เป็นหลักในการศึกษาแบบบูรณาการ ใช้วิธีการหลายๆ อย่างในการแก้ปัญหา ทรงยกตัวอย่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่

‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’

-ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

“ที่ห้วยฮ่องไคร้มีพระราชดำริให้ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ การปลูกป่าในเชิงผสมผสาน คือปลูกไม้ 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่องไล่ตามรอยห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ชะลอน้ำป้องกันดินถล่ม พร้อมกับทรงแนะนำการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และทำตลาดให้ชาวบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านมีความรู้ เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรดีเด่น พร้อมแบ่งปันความรู้ให้ชุมชนอื่น”

-ป่าเปียก

“ส่วนศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ทรงริเริ่มตั้งศูนย์เพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ มีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สร้างงานและอาชีพให้ชาวภูพาน และพระราชทานแนวพระราชดำริในการสร้างป่าเปียก เพื่อสร้างความชุ่มชื่นและเป็นแนวกันไฟ ทั้งยังพัฒนาระบบชลประทาน มีแนวคลองส่งน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำและตะกอนดิน”

-ป่าชายเลน

“ขณะที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี มีโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ชายเลน และสภาพแวดล้อมธรรมชาติของอ่าวคุ้งกระเบน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปลูกป่าชายเลนขึ้นใหม่ เพราะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล ตัวอย่างที่น่าสนใจในพื้นที่ตอนบนของโครงการปลูกผลไม้ โดยชักชวนให้ชาวบ้านลดละเลิกการใช้สารเคมี”

“เช่นเดียวกับโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ในพื้นที่มีการทดลองปลูกพืชและบำบัดน้ำเสีย ปลูกป่าชายเลนให้เพิ่มมากขึ้น ใช้ธรรมชาติบำบัดของเสียด้วยตัวเอง”

-ป่าพรุ

“ป่าพรุเป็นพื้นที่สำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรรอบพื้นที่พรุ อีกทั้งยังเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่ชะลอการไหลบ่าของน้ำจากเทือกเขาต่างๆ ก่อนระบายลงสู่ทะเล เมื่อปี 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรใน จ.นราธิวาส ทรงทราบถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำเกษตรอย่างหนัก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินพรุหรือดินเปรี้ยว จึงทรงให้หน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าพรุที่เหลืออยู่ในบริเวณนั้นด้วย โดยจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’

‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’

‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’

‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’

-ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก

“นอกจากปลูกป่าแบบใช้เยื่อไม้แล้ว การสร้างป่ามีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปลูกป่าโดยไม่รังแกป่า ไม่ทำไร่เลื่อนลอย ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ ถ้าเราไม่ตัดซ้ำซาก เขาก็จะงอกได้เอง โดยไม่ต้องปลูก”

-ปลูกป่าไม้ในใจคน

“ตามข้อมูลเมื่อปี 2519 เจ้าที่ป่าไม้มีจำนวนไม่มาก ทำให้จับคนตัดไม้ทำลายป่าไม่หวาดไม่ไหว จึงมีพระราชดำริให้ปลูกป่าไม้ในใจคน โดยสอนตั้งแต่เด็กๆ ให้ชินกับการอนุรักษ์ป่าที่นิยมทำกันก็คือ การร้องเพลง ถ่ายภาพ วาดรูป เพราะเมื่อปลูกต้นไม้ลงในใจคนเหล่านั้นแล้ว เขาก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งสรุปถึงการทรงงานฟื้นฟูป่าและอนุรักษ์ป่าของในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่า

“ไม่ว่าจะเสด็จฯไปทรงงานพื้นที่ไหนก็ตาม ทรงใช้เวลาในการศึกษา ถึงค่ำถึงดึก เรียกได้ว่าปูพรมทุกหมู่บ้าน การทรงงานด้านป่าไม้ คือ ต้องรักษาป่าไม้ พัฒนาคุณภาพดิน แหล่งน้ำ พัฒนาสัตว์ พืช และพัฒนาการศึกษา ทุกอย่างต้องรวมกัน ในที่สุดการพัฒนาคนให้มีสุขภาพดี ความเป็นอยู่ดี มีความรู้ มีความสุข เพื่อให้ช่วยกันรักษาบ้านเมืองสืบต่อไป”

นับเป็นองค์ความรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_13941

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 10 มี.ค.60
วันที่โพสต์: 10/03/2560 เวลา 09:23:01 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘ พระเทพฯ ’ รับสั่งงานอนุรักษ์ป่า ‘ในหลวง ร.9’