ปลูกผักอินทรีย์ชายน้ำขาย อาชีพที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้สบาย

ปลูกผักอินทรีย์ชายน้ำขาย อาชีพที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้สบาย

การใช้ประโยชน์จากที่พักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำด้วยการปลูกผัก เลี้ยงปลา ถือเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยมาช้านาน ด้วยเจตนาเพื่อใช้เป็นอาหารในครัวเรือน หรือบางรายทำหลายชนิดเพื่อยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงปากท้องในครอบครัว

คุณดวงเดือน ทองญวน อยู่บ้านเลขที่ 74/2 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ดังนั้น เธอจึงใช้ประโยชน์ด้วยการปลูกผักบุ้งและผักกระเฉดแบบชีวภาพ ตลอดริมฝั่งแม่น้ำซึ่งติดกับเนื้อที่บ้านไปเป็นแนวยาวกว่า 300 เมตร ยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 20 ปี

ปลูกผักอินทรีย์ชายน้ำขาย อาชีพที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้สบาย

ด้วยความที่ต้องเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก จึงทำให้คุณดวงเดือนมองว่าในยามว่างควรหาอะไรทำที่ได้เงิน เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกัน การมีบ้านตั้งอยู่ริมแม่น้ำจึงสบโอกาสให้เธอใช้ประโยชน์ด้วยการปลูกผักบุ้งแล้วเก็บขาย เพราะมองว่าไม่ได้ลงทุน หรือลงแรงอะไรมากนัก

“สมัยก่อนที่เริ่มทำในละแวกนี้ยังไม่มีใครทำกัน พอได้รู้ว่าเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดออกไปไกลจากบ้านตัวเองทำอาชีพนี้อยู่จึงพายเรือไปขอต้นพันธุ์ผักบุ้งมา แต่ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องการปลูกเลี้ยงดีนัก จึงไม่ได้ผูกยอดติดไว้ พอตอนเช้ามาพบว่าลอยหายตามน้ำไปหมด”

ผักบุ้งที่ปลูกอยู่มีทั้งพันธุ์สีขาว, เขียว และแดง (มี 2 ชนิด) คุณดวงเดือน มองว่า การปลูกผักบุ้งที่ชายแม่น้ำถือเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ไม่มีขั้นตอนการเตรียมปลูกเหมือนอย่างพืชที่ปลูกบนดิน มีเพียงการหายาป้องกันแมลงกับหนอนเท่านั้น ส่วนโรคไม่เคยพบ มีแต่บางช่วงเวลาที่หลังฝนตกแล้วบางครั้งผักจะหงอย ใบซีด ทั้งนี้ เป็นเพราะน้ำฝนที่ชะสารเคมีบนผิวดินไหลลงสู่แม่น้ำทำให้ผักที่ปลูกไว้ดูดสารเคมีผ่านราก

ปลูกผักชายน้ำตามแนวทอดยาวของแม่น้ำท่าจีน

ทั้งนี้ เธอแจงว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะเมื่อมีมวลน้ำใหม่ไหลผ่าน ก็จะทำให้ผักเหล่านั้นกลับมาเหมือนเดิมเพียงแต่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะไม่เก็บผักมาขายเพราะกลัวอันตรายไปกระทบกับผู้บริโภค

ตอนที่คุณดวงเดือนเริ่มปลูกผักบุ้งยังขาดความรู้ ความเข้าใจดีพอ ประกอบกับพื้นที่บริเวณนั้นมีแมลงมารบกวนผักบุ้งของเธออย่างมาก จึงทำให้คุณดวงเดือนตัดสินใจนำสารเคมีมาใช้ฉีดพ่นแมลง แต่พอยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มจำนวนมาก แล้วถ้าใช้มากคนฉีดต้องสุขภาพแย่ แล้วไหนต้นทุนค่ายาฉีดตกเดือนละหลายพันบาท

คุณดวงเดือนกำลังเก็บผัก

“เมื่อมองดูแล้วไม่คุ้มค่าเลยมาคิดหาวิธีเปลี่ยน จากนั้นออกไปดูตามงานเกษตรหลายแห่ง ถามผู้รู้ หาตำราเอกสารหลายชนิดมาอ่าน รวมถึงยังได้ซื้อนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมาอ่านเป็นประจำ เรียกได้ว่าหยิบจากตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้างมาผสมกัน”

ในที่สุดแนวทางของคุณวันดีมาจบลงที่การนำจุลินทรีย์มาใช้เพื่อปราบหนอน/แมลง ซึ่งตอนแรกที่ตัดสินใจนำมาใช้ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ผลหรือไม่ โดยจะผสมใส่ถังแล้วใส่เรือพายไปฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง หรือในบางคราวอาจใช้น้ำส้มควันไม้หรือเชื้อบีทีฉีดพ่นสลับกัน แล้วแนวทางนี้ได้ประสบความสำเร็จจึงใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ความสำเร็จจากการแก้ไขปัญหาของการปลูกผักบุ้ง ทำให้คุณดวงเดือนคิดว่า ผักอื่นชนิดเดียวกันอย่างกระเฉดก็น่าจะปลูกได้โดยไม่ยาก

“ความจริงแล้วการปลูกผักกระเฉดขายเป็นอาชีพโดยทั่วไปจะปลูกไว้ในท้องร่อง แต่ถ้าใช้หลักคิดว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำปลูกเช่นเดียวกับผักบุ้ง การนำผักกระเฉดมาปลูกในแม่น้ำคงไม่ใช่ปัญหาแน่ ซึ่งความคิดเช่นนี้ชาวบ้านละแวกนั้นต่างบอกว่าปลูกไม่ได้แน่ แต่ไม่ท้อจึงลองหาวิธีปลูกหลายอย่างจนสำเร็จ”

เก็บมาแล้วนำมาตบแต่งให้เรียบร้อยก่อน

ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อย่างการเปลี่ยนฤดูก็เป็นปัญหากระทบกับอาชีพและรายได้ของเธอเช่นกัน คุณดวงเดือน เล่าว่า ภายหลังที่ปลูกผักทั้ง 2 ชนิดมาหลายปี พบว่าผักที่ปลูกมักจะอ่อนแอในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู โดยเฉพาะหน้าหนาวกับหน้าร้อน

ดังนั้น จึงหาวิธีด้วยการปรับเพิ่มธาตุอาหารประเภทสังกะสีด้วยการฉีดพ่นเข้าไปเพื่อเสริมสร้างให้ผักมีความแข็งแรง แล้วป้องกันผักแพ้อากาศด้วย ฉะนั้น จึงทำให้ผักบุ้ง ผักกระเฉด มีความสมบูรณ์ แข็งแรง และสวยงามน่ารับประทานได้ทั้งปี แล้วยังทำให้เธอมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การปลูกผักบุ้งและผักกระเฉดไม่ต่างจากพืชผักชนิดอื่นที่ต้องมีการเก็บรักษาพันธุ์เพื่อสำหรับใช้ปลูกในรุ่นต่อไป คุณดวงเดือน เผยว่า เมื่อเก็บผักไปขายแล้วจะเด็ดยอดที่มีความสมบูรณ์ไว้จำนวนหนึ่ง แล้วนำมามัดรวมไว้ แยกปลูกต่างหากอีกกลุ่มเพื่อให้ยอดใหม่มีการเจริญเติบโตขยายพันธุ์ต่อไป แล้วยึดถือเป็นแนวทางการขยายพันธุ์ที่ช่วยลดต้นทุนได้อย่างดี

คุณดวงเดือนเก็บผักทั้ง 2 ชนิดทุกสัปดาห์ละครั้ง วิธีเก็บจะลงเรือพายเข้าไปเด็ดยอดในตอนเย็น ใช้เวลาหลายชั่วโมงเกือบค่ำกว่าจะเสร็จ จำนวนผักที่เก็บไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความต้องการที่ขาย แต่เฉลี่ยแล้วเก็บผักทั้ง 2 ชนิด ครั้งละ 100-200 กำ

คุณดวงเดือนกับผักบุ้งและผักกระเฉดที่

โดยผักที่เก็บมาแล้วมักจะมีลูกค้ามารับถึงบ้าน ทั้งนี้ ลูกค้ามีประเภททำอาหารขาย แม่ค้ารับผักไปขายต่อที่ตลาด หรือแม้แต่ชาวบ้านที่ซื้อไปปรุงอาหารรับประทาน อย่างไรก็ตาม ผักบางส่วนจะถูกนำไปขายที่ตลาดสดวัดเทียนดัด ที่อยู่ใกล้บ้านในทุกวันเสาร์ เนื่องจากมีขาประจำรออยู่

“ราคาขายผักบุ้งกำละ 10 บาท ส่วนผักกระเฉดกำละ 25 บาท ทั้งนี้ เป็นราคาที่ไม่คงที่แต่จะเปลี่ยนไปตามฤดู ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนผักเหล่านี้มีราคาถูก แต่ถ้าหน้าร้อนกับหน้าหนาว มักมีราคาแพง จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวผักมีราคาสูง แต่ไม่ขยับสูงนักเพราะเห็นใจลูกค้า ทั้งนี้ แม้ราคาจะสูงตามความจำเป็น แต่ลูกค้าไม่เคยบ่นเพราะทุกคนรู้ว่าเป็นไปตามสถานการณ์ อีกทั้งตั้งใจจะซื้อผักของเราเพราะเชื่อใจในความปลอดภัย”

คุณดวงเดือนกับคุณปกรณ์ ลูกชายผู้ช่วย

เจ้าของผักชายน้ำรายนี้ยังบอกต่ออีกว่า มีลูกค้าติดใจแล้วสั่งจองเพราะต่างรู้ว่าคุณภาพผักชายแม่น้ำที่ปลูกมีการดูแลอย่างดี ไม่ใช้สารเคมี คอยตัดแต่งและขจัดวัชพืชเป็นประจำ จึงทำให้ผักที่ปลูกไว้มีต้นขนาดใหญ่ ใบเขียวสด แข็งแรง เมื่อนำไปประกอบอาหาร หรือรับประทานสดจะมีรสหวาน กรอบ

“ถือว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี สามารถนำเงินไปแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม การเก็บผักชายแม่น้ำขายถึงจะมีรายได้ดี แต่วิธีการและขั้นตอนมีความยุ่งยากและละเอียดพอสมควร ดังนั้น ในอนาคตคิดว่าคงทำไปอีกสักระยะเพราะอายุมากแล้ว” คุณดวงเดือน กล่าว

สนใจต้องการหาซื้อผักบุ้ง ผักกระเฉด ที่ปลูกแบบชีวภาพ มีความอร่อย ปลอดภัย ติดต่อได้ที่ คุณดวงเดือน ทองญวน โทรศัพท์ (081) 403-7954

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/featured/article_12524

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 ก.พ.60
วันที่โพสต์: 17/02/2560 เวลา 11:12:58 ดูภาพสไลด์โชว์ ปลูกผักอินทรีย์ชายน้ำขาย อาชีพที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้สบาย