ปลูกเมล่อน อาชีพหลังเกษียณ ใช้พื้นที่น้อย สร้างรายได้งาม

ปลูกเมล่อน อาชีพหลังเกษียณ ใช้พื้นที่น้อย สร้างรายได้งาม

คุณพันธ์ศักดิ์ เผื่อนพงศ์ หรือ ครูเป้ แห่ง “บ้านสวนชวนชม-เมล่อน พิจิตร” เลขที่ 2 หมู่ที่ 6 บ้านยางคอยเกลือ ตำบลปากทาง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (089) 702-6391, (084) 080-8152 อดีตข้าราชการครูเกษียณ ซึ่งถ้าในวงการปลูกเลี้ยงชวนชมคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะครูเป้ปลูกเลี้ยงชวนชมมานานกว่า 20 ปี สะสมชวนชมเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากวงการไม้ประดับก็จะมีกระแสเป็นบางช่วงเวลา ประกอบกับเรื่องของอายุที่มากขึ้น จึงมองหาพืชใหม่ที่ใช้พื้นที่น้อย แต่สร้างรายได้ งานไม่หนักมากนัก ก็มาลงตัวที่การปลูกเมล่อนในโรงเรือน

“เมล่อน” พืชอายุสั้น ที่สร้างรายได้ดี

คุณพันธ์ศักดิ์ เผื่อนพงศ์ หรือ ครูเป้ เล่าว่า สำหรับการปลูกเมล่อนก็ศึกษามาสักระยะหนึ่งก่อนจะตัดสินใจปลูก เพราะเห็นว่าเป็นพืชอายุสั้น เพียง 65-80 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้แล้ว ใช้พื้นที่น้อย ปลูกในโรงเรือนที่มีมุ้งตาข่าย ก็จะตัดปัญหาเรื่องแมลงศัตรูได้ และประกอบกับราคาขายเมล่อนค่อนข้างดี เฉลี่ยขายกิโลกรัมละ 90-150 บาท (ซึ่งราคาจะอยู่กับราคาเมล็ดพันธุ์และกลุ่มลูกค้า) ที่สำคัญการทำงานไม่หนักสำหรับคนที่อายุมาก ซึ่งตอนนี้ก็ใช้แรงงานแค่คนในครอบครัว คือตัวเอง ภรรยา และบุตรชาย

การปลูกเมล่อนในโรงเรือน แน่นอนที่สุด ต้นทุนสำคัญคือโรงเรือน

แม้ราคาโรงเรือนที่ลงทุนสูง ตัวอย่างของที่สร้าง ขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สูง 3 เมตร รวมอุปกรณ์หลังคาพลาสติก และมุ้งกันแมลง ราคาประมาณ 45,000 บาท แต่ถ้ารวมอุปกรณ์ระบบน้ำ เช่น ปั๊มน้ำ ทามเมอร์ตั้งเวลาการให้น้ำ สายน้ำหยด หัวน้ำหยดต่างๆ ก็จะตกอยู่ที่ 50,000 บาท ต่อโรงเรือน

ปลูกเมล่อน อาชีพหลังเกษียณ ใช้พื้นที่น้อย สร้างรายได้งาม

คุณพันธ์ศักดิ์ เล่าว่า เป็นเงินลงทุนก้อนแรกที่อาจจะดูว่าสูง แต่ตัวเมล่อนเองก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก ถ้าทำดีๆ ก็น่าจะคืนทุนเรื่องของโรงเรือนได้ในช่วงเวลา 1 ปีเท่านั้น ประกอบกับโรงเรือนนั้นมีอายุการใช้งานได้นานมาก ก็คิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ตอนนี้ก็มีทั้งหมด 3 โรงเรือน คาดว่าจะก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 2-3 โรงเรือน ให้ผลผลิตเมล่อนออกสู่ตลาดได้ต่อเนื่อง ซึ่งโรงเรือนตอนนี้ ขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สามารถปลูกเมล่อนได้ราว 300 ต้น หรือจัดวางถุงปลูกได้ 300 ถุง

ผลผลิตที่ได้ ถ้าเป็นตัวเลขก็ต้องได้เมล่อน 300 ผล แต่ความเป็นจริงก็อาจจะเสียหายบ้างจากหลายๆ กรณี เช่น ไม่ติดผล ต้นตาย ในการปลูกเมล่อนแต่ละรุ่นก็น่าจะเฉลี่ยได้ผลผลิต ประมาณ 250-280 ผล น้ำหนักผลก็จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแล ซึ่งโดยเฉลี่ย เมล่อน 1 ผล ก็จะมีน้ำหนัก ราว 1.5-2 กิโลกรัม

อายุการเก็บเกี่ยวเมล่อน

ประมาณ 80 วัน ตั้งแต่เริ่มการเพาะเมล็ด

คุณพันธ์ศักดิ์ อธิบายว่า ขั้นตอนเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ด แช่เมล็ดในน้ำอุ่น (น้ำร้อน 1 น้ำปกติ 50 จะได้น้ำอุ่น) 1 วัน บ่มเมล็ดในภาชนะมีฝาปิดมิดชิด โดยใช้สำลีหรือกระดาษชำระรองก้นแล้วพรมน้ำให้ชุ่มชื้น ประมาณ 1-2 วัน จะมีรากอ่อนงอก ให้นำลงปลูกในวัสดุปลูกที่เตรียมไว้ เช่น พีทมอสส์ หรือมีเดีย ให้นำถาดเพาะเมล็ดไปไว้กลางแดด 100% ไม่ควรพรางแสง เพราะลำต้นจะยืดทำให้ไม่แข็งแรง ไม่ควรให้วัสดุปลูกแห้งเด็ดขาด ประมาณ 5-7 วัน ลำต้นอ่อนจะดันวัสดุปลูกขึ้นมา

ชั่งน้ำหนักผลได้ก่อนเก็บเกี่ยว น้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมขึ้น

การสังเกตอีกวิธีหนึ่ง ผลเมล่อนที่แก่ ที่ขั้วผลจะแตกลาย

ควรให้น้ำอย่าให้วัสดุปลูกแห้ง ก็จะประมาณ 10-15 วัน หรือประมาณ 2-3 ใบจริง อันนี้คงต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ความพร้อมของต้นกล้าประกอบ แต่กล้าเมล่อนนั้นก็ไม่ควรเกิน 15 วัน ต้องย้ายปลูกให้หมด เนื่องจากธาตุอาหารในมีเดีย หรือวัสดุเพาะนั้นจะหมดแล้ว ในช่วงระยะเวลา 10-15 วันนั้น ก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของวัสดุปลูก ก็ประยุกต์ใช้จากวัสดุที่หาได้ง่าย มีแกลบดำ 1 ส่วน กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน คลุกเคล้าผสมวัสดุให้เข้ากัน กรอกวัสดุปลูกลงถุงปลูก ถุงก็เลือกใช้ถุงปลูกเมล่อนที่จะมีสีขาว ด้วยคุณสมบัติไม่ดูดความร้อนเหมือนถุงที่มีสีดำ จากนั้นย้ายถุงปลูกเข้าโรงเรือน นำถุงไปจัดเรียงในโรงเรือน วางสายน้ำไปตามถุงต่างๆ ตามระยะ ทดสอบระบบน้ำว่าน้ำไหลออกมาทุกหัวน้ำหรือเปล่า ถ้าหัวน้ำตันก็เปลี่ยนหรือทำความสะอาดให้เรียบร้อย เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะเข้าสู่การย้ายกล้าลงถุง ก่อนย้ายกล้า 1 วัน ก็จะเปิดน้ำให้ถุงปลูกมีความชื้นเสียก่อน ย้ายด้วยความประณีตและระมัดระวังให้กล้าบอบช้ำน้อยที่สุด จากนั้นเปิดให้น้ำปกติ

วัสดุปลูกที่ใช้กาบมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว และแกลบดำ

การให้ปุ๋ยเมล่อน

ก็จะแบ่งเป็นปุ๋ยที่ปล่อยไปพร้อมกับระบบน้ำ เพราะปุ๋ยที่นำมาใช้จะเป็นแม่ปุ๋ยที่ซื้อมาผสมใช้เอง เช่น การเจริญเติบโตช่วงแรกก็จะเน้นปุ๋ยสูตรที่มีสูตรตัวหน้าสูง (N) ช่วงสร้างดอกติดผลก็สูตรปุ๋ยที่มีสูตรตัวกลาง (P) และตัวท้ายสูง (K) ช่วงท้ายๆ คือใกล้เก็บเกี่ยวก็จะเน้นปุ๋ยสูตรตัวท้ายสูง (K) เพื่อเพิ่มความหวาน แต่ถ้ายังไม่แน่ใจนักตอนนี้ก็จะมีปุ๋ยสำเร็จรูป ที่เขาเรียกกันว่า ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B ที่หาซื้อได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ ก็สามารถใช้ได้ง่าย เนื่องจากปุ๋ยเหล่านี้ได้ผสมมาเพื่อใช้สำหรับการปลูกเมล่อน และปุ๋ยที่ฉีดพ่นให้ทางใบ

ยกตัวอย่าง ปุ๋ยที่ไปกับระบบน้ำ จะเริ่มต้นให้ปุ๋ยหลังปลูกลงถุงไปแล้วสัก 3 วัน เพื่อให้ต้นกล้าเมล่อนได้ตั้งตัว มีการสร้างรากใหม่เสียก่อน การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ จะใช้วิธีการสังเกตให้สอดคล้องกับระยะการเจริญเติบโต ช่วงแรกๆ ของการเจริญเติบโตก็จะให้ปุ๋ยแบบวันเว้นวัน จากนั้นก็จะขยับมาให้ปุ๋ยวันเว้นสองวัน ขยับมาให้ปุ๋ยวันเว้นสามวันในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ไม่มีสูตรตายตัวสำหรับการให้ปุ๋ย แต่การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ ก็ต้องมีการวัดค่าปุ๋ยด้วยเครื่อง EC มิเตอร์

ระบบการให้น้ำและปุ๋ย ที่แยกเป็นวงบ่อน้ำ 1 บ่อ และวงบ่อให้ปุ๋ย 3 บ่อ สำหรับ 3 โรงเรือน

การวางแผนการปลูก จะปลูกให้ห่างกัน โรงเรือนละ 15 วัน เพื่อให้ผลผลิตมีหมุนเวียน ประกอบกับให้เราสามารถทำงานได้ทัน เนื่องจากเราใช้แรงงานในครอบครัวเท่านั้น มันก็จะมาสอดคล้องกับการใช้ทามเมอร์ตั้งเวลา ที่จะใช้ 1 ตัว ต่อ 1 โรงเรือน เพราะการให้ปุ๋ย ให้น้ำ ย่อมแตกต่างกันไปตามช่วงระยะของการเจริญเติบโต อย่างการให้น้ำก็ต้องดูสภาพดินฟ้าอากาศ อย่างหน้าร้อนต้องให้น้ำถี่ แต่ให้บ่อย หรือในหน้าฝนเมฆเยอะแดดไม่ค่อยมี ครึ้มทั้งวัน การให้น้ำก็ต้องไม่ถี่เนื่องจากจะชื้นแฉะเกินไป

เรื่องของแมลงศัตรูก็ยังไม่ค่อยมีมากนัก เป็นข้อดีของการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ทำให้การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงเลยไม่ได้ใช้เลย เนื่องจากเป็นการเลือกใช้ตาข่ายหรือมุ้งกันแมลงที่มีรูขนาดเล็ก แมลงศัตรู เช่น หนอน เต่าแตง เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว เป็นต้น ไม่สามารถเข้ามาในโรงเรือนเมล่อนได้ มุ้งกันแมลงเลือกใช้ความละเอียด 40 ตา

พอต้นเมล่อนมีใบจริง 4-6 ใบ ก็จะเริ่มจับต้นมัดกับเชือกไนล่อน ให้ต้นตั้งตรง งานก็ดูแลต้นเมล่อนไปตามปกติ ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ดูหัวน้ำไม่ให้อุดตัน เด็ดแขนงข้างไปเรื่อยๆ โดยจะเริ่มปล่อยแขนงให้เจริญตั้งแต่ ข้อที่ 9 เป็นต้นไป เพราะแขนงเหล่านั้นจะมีหน้าที่ออกดอกเป็นดอกตัวเมีย (ส่วนดอกตัวผู้จะออกดอกบริเวณโคนก้านใบตามลำต้นหลัก) เมื่อได้รับละอองเกสรโดยการที่มนุษย์ช่วยผสม (ในโรงเรือนจะไม่มีแมลงมาช่วยผสมตามธรรมชาติ) ถ้าช่วยผสมดอกดี เมล่อนก็จะติดผลสมบูรณ์หลังจากช่วยผสมเกสรเพียง 3-5 วัน

คุณต้น ลูกชายที่เข้ามาช่วยดูแลการปลูกและการตลาดเมล่อน

ฉะนั้น เราต้องช่วยผสมเกสรให้กับดอกตัวเมียที่อยู่ตามแขนง ตั้งแต่ ข้อที่ 9 ขึ้นไป ทุกๆ วัน ทุกๆ แขนงที่ดอกตัวเมียบานในช่วงเวลาครึ่งวันเช้า จนกว่าจะได้ผลเมล่อนขนาดเล็กประมาณลูกปิงปองถึงไข่ไก่ 2-3 ผล เพื่อเอาไว้คัดเลือก ผลเมล่อนที่สวนและสมบูรณ์ที่สุดไว้เพียง 1 ผล ต่อต้น เท่านั้น ซึ่งการช่วยผสมดอกนั้นควรจะผสมในช่วงเวลาเช้า 06.00-10.00 น. เนื่องจากดอกเมล่อนจะบานในช่วงเวลาเช้า เมื่อเลยเที่ยงวันไปแล้วดอกตัวเมียจะไม่ค่อยรับการผสมจากดอกตัวผู้แล้ว และดอกตัวเมียจะบานอยู่แค่วันเดียวเท่านั้น

หลังจากย้ายปลูก ประมาณ 2 สัปดาห์ จะเริ่มมีดอกตัวเมียบานที่กิ่งแขนง การผสมก็ทำได้โดยเด็ดดอกตัวผู้ที่บานมาแล้วเด็ดกลีบดอกทิ้งไป นำไปแต้มให้ทั่วดอกตัวเมียที่บานในวันนั้นๆ แต่ส่วนตัวนั้น ถนัดการใช้พู่กันเขี่ยเอาละอองเกสรตัวผู้ที่จะมีสีเหลืองๆ แล้วมาแต้มดอกตัวเมียที่บานในเช้านั้นๆ การใช้พู่กันทำให้สามารถแต้มดอกตัวเมียในพื้นที่จำกัดได้ดี หลังผสมเกสรดอกนั้นๆ เสร็จแล้วก็ควรจะตัดปลายยอดของแขนงนั้นออกสัก 1 ข้อใบ หรือสัก 1 นิ้ว จากความยาวของปลายยอดแขนง เพื่อเป็นการทำสัญลักษณ์เอาไว้ว่า ได้ผสมไปแล้ว และหยุดการเจริญของปลายยอดแขนงเอาไว้ด้วยไม่ให้ไหลยืดยาวไปพันต้นอื่นๆ

หลังการคัดเลือกผลเมล่อนไว้ 1 ผล ต่อต้น ได้แล้ว ก็จะเด็ดตัดแขนงที่ปล่อยไว้ก่อนหน้านี้ออกทั้งหมด แล้วทยอยจับผลแขวนด้วยเชือกฟาง การแขวนผลนั้นเพื่อช่วยรับน้ำหนักผลเมล่อนที่จะโตค่อนข้างเร็ว เมื่อนับใบเมล่อนมีใบที่สมบูรณ์ อย่างน้อย 15 ใบ ขึ้นไป ดูว่าสามารถเลี้ยงผลได้ดี ก็จะตัดปลายยอดทิ้งไป เพื่อให้อาหารทั้งหมดถูกส่งมาเลี้ยงที่ผลมากที่สุด

สายพันธุ์เมล่อนที่เลือกปลูก

สายพันธุ์พื้นฐานที่นิยมปลูก เช่น สายพันธุ์ “เลดี้กรีน” เนื้อในสีเขียวหยก เปลือกผิวเป็นตาข่าย รสชาติหวาน หอม และ “เลดี้โกลด์” เนื้อในสีส้ม เปลือกผิวเป็นตาข่าย รสชาติหวาน หอม ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ได้พัฒนาพันธุ์มาให้เหมาะกับบ้านเราแล้ว ราคาเมล็ดพันธุ์เฉลี่ยก็ประมาณ 3 บาท ซึ่งถือว่าไม่แพงมาก แต่ถ้านำเมล็ดนำเข้าสายพันธุ์แท้มาปลูก ซึ่งราคาค่อนข้างสูง ราคาเมล็ดตั้งแต่ 20-100 บาทขึ้นไป ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมาก การขายก็ต้องมีราคาที่สูง คนซื้อก็จะซื้อยากขึ้น เพราะกลุ่มลูกค้าเราจะเน้นการขายในพื้นที่เป็นหลัก และมีการจัดส่งทางไปรษณีย์หรือขนส่งเอกชน

คุณต้น ลูกชายที่เข้ามาช่วยดูแลการปลูกและการตลาดเมล่อน

ปัจจุบัน จำหน่ายเมล่อนออกจากสวนตอนนี้ กิโลกรัมละ 90 บาท ขนาดผลเมล่อนก็จะอยู่ที่ 1.5-2 กิโลกรัม เฉลี่ยราคาต่อผล ก็ประมาณ 135-180 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คนทั่วไปสามารถซื้อเมล่อนรับประทานได้ ไม่แพงจนเกินไป อนาคตก็คาดว่าจะขยายโรงเรือนมากขึ้น อีกสัก 3 โรงเรือน รวมแล้วให้ได้ 6 โรงเรือน

เมล่อน มีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึง เก็บเกี่ยว ประมาณ 75-80 วัน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และฤดูปลูกเมล่อน พันธุ์เบาเก็บเกี่ยวได้เร็วและเมล่อนที่ปลูกในฤดูร้อนผลจะสุกเร็วกว่าในฤดูหนาว เมล่อนเริ่มติดผลเมื่อมีอายุได้ประมาณ 35-40 วัน หลังย้ายปลูกเมื่อผลมีขนาดเท่าไข่ไก่จะเริ่มแขวนผล หลังจากนั้น ประมาณ 1 เดือน ก็จะสามารถที่จะเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ ยังสามารถสังเกตระยะที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวได้ เช่น รอยแยกของขั้ว สังเกตระหว่างขั้วกับผลเมล่อน ถ้ามีรอยร้าวสีน้ำตาลเกิดขึ้นแสดงว่าสามารถเก็บเกี่ยวได้ สีของผล ผลจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีครีม หรือสีเหลือง สีส้ม สีขาวขุ่นปนเหลือง หรือสีนวลรอยนูนของตาข่ายร่างแห (Net)

ผลเมล่อนที่พร้อมจำหน่าย

เมล่อนที่มีตาข่ายเมื่อสุกรอยนูนของตาข่ายจะคลุมผล แข็ง นูน เห็นชัด กลิ่นเมล่อนบางพันธุ์เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้โดยการนับอายุ โดยนับจากช่วงผสมเกสรตามอายุของพันธุ์นั้นๆ ใช้หลายวิธีประกอบกันในการตัดสินใจ เนื่องจากเมล่อนเป็นพืชที่ค่อนข้างตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมง่าย ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับพื้นที่ที่มีการแปรปรวนของสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ การตัดเมล่อนนอกจากตัดขั้วติดมาแล้ว ยังต้องตัดให้ติดส่วนของกิ่งแขนงย่อยออกมาด้วย โดยให้ติดเป็นรูปตัว T หลังจากเก็บเกี่ยวเมล่อนจะเก็บรักษาไว้ได้ ประมาณ 15-20 วัน แล้วแต่พันธุ์ ซึ่งการบ่มไว้จะทำให้รสชาติความหวานเพิ่มขึ้น

ก่อนการเก็บเกี่ยว ประมาณ 5 วัน ควรงดการให้น้ำ เพื่อให้ผลเมล่อนมีความหวานมากขึ้น แล้วก็จะตรวจเช็กความหวานด้วยเครื่องวัดความหวาน (Brix Refractometer) มักถูกนำมาใช้ในการวัดปริมาณน้ำตาลทุกครั้งก่อนการเก็บเกี่ยว เพราะเรื่องความหวานของเมล่อนมีความสำคัญมาก โดยทั่วไปแล้วความหวานของเมล่อนจะอยู่ที่ 14-18 บริกซ์

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/featured/article_12349

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 ก.พ.60
วันที่โพสต์: 15/02/2560 เวลา 10:06:31 ดูภาพสไลด์โชว์ ปลูกเมล่อน อาชีพหลังเกษียณ ใช้พื้นที่น้อย สร้างรายได้งาม