อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

คุณประเสริฐ บางแดง เจ้าของสวนเมล่อน “น้ำเพชรฟาร์มเมล่อน” อยู่บ้านเลขที่ 3/3 หมู่ที่ 7 ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โทร. (089) 641-5176, (061) 469-8262 จากมนุษย์เงินเดือนหันมาปลูกเมล่อนในโรงเรือน ปลูกแบบลงดิน สามารถสร้างรายได้จากเมล่อน 30,000-40,000 บาท ต่อรุ่น ทีเดียว

คุณประเสริฐ บางแดง เล่าย้อนกลับไปว่า ก่อนหน้าที่จะมาปลูกเมล่อน ตนเองก็อาจจะเหมือนท่านอื่นๆ ที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานเป็นผู้จัดการปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งมานานพอสมควร ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเกษตรเลย หลังจากอิ่มตัวก็ออกจากงานแล้วไปเปิดเช่าแผงผลไม้ที่ตลาดไท เพราะมีน้องที่รู้จักกันชักชวน ก็เอาแคนตาลูปมาขายที่แผง ขายดีมาก แต่แคนตาลูปมักจะไม่พอขาย ขาดตลาดอยู่บ่อยๆ ตอนสินค้าขาดตลาดก็ต้องวิ่งซื้อหา ทำให้ราคาขึ้นลงไม่แน่นอน ทำให้นำมาขายต่อได้ลำบาก ไม่เหมือนพ่อค้าแผงอื่นๆ ที่จะมีลูกไร่ปลูกส่งเข้ามาที่แผง มีการรับซื้อแคนตาลูปจากลูกไร่ในราคาที่แน่นอน ทำให้นำมาขายต่อที่แผงราคาค่อนข้างนิ่งกว่าเราที่ต้องวิ่งออกหาซื้อจากชาวสวน หรือช่วงที่แคนตาลูปจากลูกไร่ขาดช่วงก็หาของมาขายได้ยากมาก จึงมองเห็นว่าผลไม้อย่าง แคนตาลูป ยังมีความต้องการอีกมาก

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

คุณประเสิรฐ กล่าวอีกว่า รู้สึกสนใจ เมื่อกลับมาบ้านเพื่อปลูกแคนตาลูป ก็ได้รับคำแนะนำเรื่องของการปลูก การดูแล จากเพื่อนที่รู้จักเคยปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ ส่งห้างสรรพสินค้า ก็ได้เพื่อนคนนี้มาเป็นพี่เลี้ยงให้ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเขามาบอกการเตรียมแปลง การวางระบบน้ำให้ แล้วสื่อสารผ่านทางไลน์ ส่งรูปให้เขาช่วยแนะนำหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เป็นระยะ ซึ่งเราอยู่กันคนละจังหวัด ตัวเราก็ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรเลย

“การทำแคนตาลูปครั้งแรกในชีวิต ในพื้นที่ 2 ไร่นั้น ถือว่าเสมอตัว ไม่ได้กำไร แต่ก็ไม่ขาดทุน แต่ได้รับประสบการณ์ว่าเราผิดพลาดตรงไหนบ้าง ที่บอกว่าไม่ได้ขาดทุน เพราะตอนนั้นยังได้เก็บผลผลิตขาย รสชาติแคนตาลูปใช้ได้ แต่ผลผลิตต่อไร่ได้น้อย เนื่องจากเราพลาดในเรื่องของขั้นตอนการจัดการ เช่น การเด็ดแต่งแขนงออกให้เร็วขึ้น เพื่อให้ต้นหลักสูงและแข็งแรง และส่งผลให้ผลแคนตาลูปขยายลูกได้ไว แต่ในตอนนั้นผมแต่งแขนงช้าไป ทำให้แคนตาลูปผลเล็กไม่ค่อยได้น้ำหนัก”

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

คุณประเสริฐ บอกด้วยว่า ไม่นานนัก ก็พบปัญหาเรื่องของ “โรคราน้ำค้าง” ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญในพืชตระกูลแตง แต่ด้วยความไม่รู้ว่าโรคที่เจอคือโรคอะไร ต้องฉีดสารป้องกันกำจัดอะไรให้ตรงกับโรคและแมลงที่พบหรือระบาด ซึ่งในตอนนั้นก็เจอปัญหาเรื่องโรคราน้ำค้างทำลาย ตอนนั้นจำได้ว่าปลูกในช่วงฤดูหนาว ราวๆ เดือนมกราคม แล้วเป็นจังหวะที่ในปีนั้นอากาศหนาวจัดมาก ปรากฏว่าโรคราน้ำค้างระบาดด้วยความไม่รู้ว่าเกิดโรคราน้ำค้าง ปล่อยให้เกิดการระบาดขึ้นในแปลง เรายังฉีดยาเชื้อราพื้นๆ ทั่วไป ไม่ได้ใช้ยาป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างโดยตรง และฉีดให้ถี่ขึ้น ก็ทำให้เราพลาดไปสำหรับการปลูกแคนตาลูปครั้งแรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ ประสบการณ์ที่ได้รับให้มาปรับปรุง

ผลผลิตแคนตาลูป จำนวน 2 ไร่ ที่ได้ในตอนนั้น แค่ 2,000 กิโลกรัม เท่านั้น ขายได้เงิน 40,000 กว่าบาท โดยปกติแล้วการปลูกแคนตาลูปจะต้องได้ผลผลิตมาก 2,000-3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่คุณประเสริฐปลูก 2 ไร่ ได้ผลผลิตเท่าๆ กับเกษตรกรมืออาชีพปลูกเพียง 1 ไร่ เท่านั้น

คุณประเสริฐ เล่าว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยก็รู้ว่าขายแคนตาลูปได้ ทำให้คนในพื้นที่ประหลาดใจว่าแคนตาลูปปลูกได้ในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งอากาศร้อน สภาพดินไม่ดีเลย โดยคนส่วนใหญ่ยังคิดว่าพืชตระกูลแคนตาลูปหรือเมล่อนต้องปลูกในพื้นที่เฉพาะหรือในเขตภาคเหนือที่มีอากาศเย็น และทำให้คุณพ่อ หรือ คุณพ่อสมศักดิ์ บางแดง ที่เป็นชาวนา ทำนามาโดยตลอด ก็เกิดความสนใจและตอนนี้ช่วยกันดูแลกับคุณพ่อ 2 คน เป็นหลัก ซึ่งคุณพ่อสมศักดิ์ยังได้เล่าให้ฟังว่า ตนเองมองเห็นว่าพืชพวกนี้ปลูกได้ในบริเวณนี้ สามารถให้ผลิตดี มีราคาสูง ใช้แค่แรงงานคนในครอบครัว งานไม่หนักมากเหมือนการทำนา ซึ่งตนเองอายุมากแล้ว และใช้พื้นที่ปลูกน้อย ซึ่งคุณพ่อสมศักดิ์บอกว่า “ตอนนี้การผลิตเมล่อน 1 รุ่น ต่อโรงเรือน สร้างรายได้ดีกว่าการทำนา 10 ไร่ เสียอีก”

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

“การทำนาในตอนนี้ที่คุณพ่อบอกเป็นนาปี จะปลูกข้าวไว้ประมาณ 20 ไร่ เพื่อส่วนหนึ่งเก็บไว้กินใน 1 ปี โดยไม่ต้องซื้อข้าวกิน ส่วนที่เหลือก็จะขายได้เพียงเกวียนละ 5000 กว่าบาทเท่านั้น สำหรับการทำนาก็พอเหลือบ้างในคราวนั้นๆ ถ้าพื้นที่ที่มีน้ำสมบูรณ์ทำนาได้หลายๆ รอบ ก็พอจะอยู่ได้ มีเงินเหลือที่จะใช้จ่ายใน 1 รอบปีที่ทำนา แต่พื้นที่แถบนี้ทำนาได้เพียงครั้งเดียว เนื่องจากน้ำไม่ค่อยดี ทำให้การทำนาไม่สามารถสร้างรายได้ให้พอใช้จ่ายตลอดทั้งปีได้ แต่การปลูกเมล่อนนั้นสามารถวางแผนการผลิตได้ให้สามารถมีเงินหมุนเวียนในแต่ละเดือนได้เป็นอย่างดี”

คุณประเสริฐ เล่าว่า ตอนนี้ตนเองและครอบครัวเริ่มปลูกเมล่อนมาได้ราวๆ 1 ปี ปลูกมาได้ 3-4 รอบแล้ว ซึ่งต่อรอบของการปลูกเมล่อน ตั้งแต่ปลูกจนเก็บขาย จะใช้เวลา 65-75 วัน (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) แล้วพักแปลงและรื้อแปลงอีก 15 วัน รวมแล้วต่อรุ่นหรือต่อรอบการผลิตก็เกือบ 3 เดือน เมล่อนตอนนี้ที่สวนก็มีลูกค้าประจำ ที่เขารับของเราไปเพื่อส่งเข้าห้างอีกทีหนึ่ง เพราะโรงเรือนเมล่อนเราได้รับรอง GAP ทำให้ง่ายและสะดวกในการค้า และลูกค้าประจำอีกรายที่จะรับไปขายต่อที่อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผลผลิตตอนนี้ก็จะผลิตได้ 800-1,000 กิโลกรัม ต่อรุ่น ต่อโรงเรือน จำหน่ายได้ราคา กิโลกรัมละ 70-100 บาท ทีเดียว

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

การตัดสินใจปลูกเมล่อนในโรงเรือนเชิงการค้า นอกจากความรู้เบื้องต้นแล้ว คงจะเป็นเรื่องของต้นทุนหรือราคาโรงเรือนที่หลายๆ ท่านอยากทราบราคา

คุณประเสริฐ เล่าว่า ตอนนี้ตนเองมี 2 โรงเรือน โดยโรงเรือนของตนเองมีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 36เมตร สูงจากพื้นถึงยอดหลังคา ประมาณ 3.80 เมตร พื้นที่รวมราว 216 ตารางเมตร ค่าใช้จ่ายกรณีของผมพอจะมีความรู้เรื่องช่าง คือสามารถอ๊อกเชื่อมเหล็กได้ จ้างช่างในพื้นที่มาช่วย ซื้ออุปกรณ์เองทั้งหมดเช่น เหล็ก ไนลอนปิดรอบโรงเรือน พลาสติกคลุมมุงหลังคาโรงเรือน และระบบน้ำ ต้นทุนโรงเรือนที่ทำเองก็จะไม่เกิน 70,000 บาท เท่านั้น แต่ถ้าจ้างผู้รับเหมามาทำก็แพงกว่านี้ 1-2 เท่าตัวทีเดียว หรือแสนกว่าบาทขึ้นไป

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

หากโรงเรือน ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 36 เมตร พื้นที่รวมราว 216 ตารางเมตร สามารถปลูกเมล่อนได้เต็มพื้นที่ ราว 800 ต้น แต่จะทำงานได้ยากพอสมควร เนื่องจากต้นจะแน่น ชิดกันมาก การทำงาน เช่น มัดต้น แต่งแขนง ผสมดอก แขวนลูก หรือแม้กระทั่งการฉีดพ่นปุ๋ย ฮอร์โมน และสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงก็เป็นไปด้วยความลำบาก ก็ต้องปรับเปลี่ยนระยะปลูกให้ห่างขึ้น ก็มาลงตัวที่ 600 ต้น ต่อโรงเรือน ซึ่งสามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น

พลาสติกใสคลุม หรือมุงหลังคาโรงเรือน

เลือกใช้ความหนาที่ 150 ไมครอน ซึ่งที่เลือกใช้พลาสติกใสความหนาที่ 150 ไมครอน เพราะมีราคาปานกลาง ยังไม่ส่งผลเรื่องของการเจริญเติบโต หรือผลกระทบอะไรกับเมล่อนในโรงเรือน ส่วนถ้าใครมีทุนหรือกำลังทรัพย์มากพอ พลาสติกใส ความหนา 200 ไมครอน นั้นจะมีความเหมาะสมมากที่สุดและความทนทาน แต่ราคาก็สูงตาม

มุ้งกันแมลง (Insect Net) หรือมุ้งตาข่ายกันแมลง

ใช้ปิดล้อมโรงเรือนเมล่อน มีให้เลือกหลายความถี่ของตา ของตนเองเลือกใช้ มุ้งกันแมลงสีขาวที่แสงจะส่องเข้ามาได้ดีกว่าสีอื่น ส่วนความถี่ตานั้นเลือกใช้ ขนาด 32 ตา ต่อนิ้ว ซึ่งจะป้องกันได้เพียงแมลงขนาดใหญ่ เช่น เต่าแตง ส่วนแมลงขนาดเล็กอย่าง เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว ไร ฯลฯ ไม่สามารถป้องกันได้ดีนัก แต่เราใช้วิธีการสังเกตการระบาดแล้วฉีดพ่นป้องกันกำจัดแทน

จากการปลูกเมล่อนในโรงเรือน การระบาดของแมลงไม่ได้มีมากนัก มีการฉีดพ่นไม่กี่ครั้งแมลงศัตรูก็จะน้อยหรือลดลงไปอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง เช่น การฉีดยาป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟแล้ว 1-2 รอบ เพลี้ยไฟก็จะหายหรือลดลงอย่างชัดเจน ไม่ได้กลับมาหรือเพิ่มเติมอีกเหมือนกับการปลูกในแปลงโล่งแจ้งที่ฉีดได้ 3-5 วัน แมลงศัตรูก็จะกลับมาใหม่ แต่ตาข่ายพลาสติกเบอร์นี้ที่ตนเองเลือกใช้นั้น ด้วยเหตุผลที่ลมสามารถพัดผ่านให้อากาศได้ถ่ายเท ซึ่งส่วนตัวคิดว่าดีแก่ตัวเกษตรกรที่ต้องปฏิบัติงานในโรงเรือนทุกวัน ถ้าลมไม่สามารถพัดผ่านลอดเข้ามาได้คนปฏิบัติงานก็จะแย่ เพราะร้อนอบอ้าวจนเกินไป จึงเลือกเบอร์ตาข่ายที่ลมสามารถพัดผ่าน ลมสามารถระบายได้ให้เราสะดวกสบายที่สุดในการทำงาน แต่จริงๆ แล้วการพิจารณาเลือกมุ้งตาข่ายยังส่งผลต่อความชื้นต่างๆ ในโรงเรือนด้วย ในแต่ละพื้นที่คงเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตนเอง

ทำไม ปลูกเมล่อนแบบลงดิน ไม่ปลูกในถุงที่ใส่วัสดุปลูก

คุณประเสริฐ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าตนเองไม่ได้เก่งเรื่องการให้ปุ๋ยการให้น้ำแบบนั้น ซึ่งมีความซับซ้อนและละเอียด อย่างการให้ปุ๋ย A, AB ต้องตั้งเวลาคำนวณการให้ว่า วันละกี่ครั้ง ครั้งละกี่นาที อัตราปุ๋ยที่จะให้แต่ละต้น วัดค่า EC ของปุ๋ย ซึ่งตนเองคิดว่าซับซ้อนจนเกินไปสำหรับตนเอง แต่การปลูกเมล่อนแบบลงดินแบบนี้ อย่างการให้น้ำก็มีคุณประเสิรฐและคุณพ่อที่เป็นคนดูแล ก็สามารถพิจารณาได้ว่าให้น้ำไปแล้วความชื้นของดินเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องมองที่ต้นทุนของถุง วัสดุปลูกและอุปกรณ์ระบบน้ำ

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

“ก็มองแบบนี้ เลยคิดว่าการปลูกเมล่อนแบบลงดินในโรงเรือนน่าจะเหมาะสมกับตนเองที่สุด มีการจัดการที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ง่าย สะดวก เข้าใจได้ง่าย อย่างการเตรียมแปลงก็ยังใช้จอบขุดดินสำหรับการเตรียมแปลงใหม่ทุกรอบ แต่อนาคตก็ต้องใช้เครื่องพรวนดินขนาดเล็กเพื่อผ่อนแรงและรองรับโรงเรือนที่จะขยายจำนวนเพิ่มอีก เพื่อให้ผลผลิตส่งหรือมีขายได้ทุกเดือน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อยากได้ผลผลิตทุกเดือน”

ระบบน้ำที่สวนไม่ซับซ้อน

ต้นทุนระบบน้ำของที่สวน ไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับระบบเมนหลัก ซึ่งการให้น้ำและปุ๋ยผ่านน้ำทั้ง 2 โรงเรือน เราใช้ปั๊มน้ำ ขนาดแค่ 1 แรง เท่านั้น ซึ่งมีราคาไม่แพงนัก แรงดันก็เพียงพอในการส่งน้ำและปุ๋ยผ่านน้ำไป มีตัวกรองขนาดเล็กที่จะช่วยไม่ให้เศษต่างๆ ผ่านเข้าไปในสายยางแล้วไปอุดตันระบบน้ำ

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

การเตรียมดิน เตรียมแปลงปลูกเมล่อน

ทุกครั้งที่เราเก็บผลผลิตเสร็จ ก็จะต้องรื้อถอนต้นออกจากแปลงให้หมด ขั้นตอนทั้งหมดก็จะประมาณ 15 วัน ก่อนที่จะเริ่มปลูกเมล่อนรุ่นต่อไป สิ่งที่ต้องทำคือ เก็บอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สายน้ำหยด พลาสติกคลุมแปลง เชือก เป็นต้น ขุดตากดินเอาไว้หว่านปูนขาวเพื่อช่วยฆ่าเชื้อ จากนั้นจะเริ่มใส่ปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน เพราะดินที่นี่ค่อนข้างจะเป็นดินที่ไม่ค่อยมีความสมบูรณ์มากนัก จึงต้องให้ความสำคัญในการเติมหรือใส่อินทรียวัตถุต่างๆ ทุกครั้งในการเตรียมดิน หว่านเชื้อไตรโคเดอร์มาที่ขยายเชื้อเอาไว้ใช้เอง (เชื้อราไตรโคเดอร์มา คือ เชื้อราชนิดหนึ่งที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากอินทรียวัตถุเป็นอาหารโดยไม่มีอันตรายกับพืช คน สัตว์ และแมลง เชื้อราไตรโคเดอร์มา หลายชนิดมีคุณสมบัติในการควบคุมและทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืชทางดิน จึงทำให้พืชมีระบบรากที่สมบูรณ์ แข็งแรง หาอาหารได้มาก ต้นพืชจึงสมบูรณ์ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดี) ก็คลุกเคล้าวัสดุปลูกต่างๆ ให้ทั่ว ย่อยดินให้ละเอียด เกลี่ยแปลงให้เรียบ ก็จะเสร็จสิ้นการทำแปลงปลูก

อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

ต่อจากนั้นก็ต้องวางสายน้ำหยด เปิดน้ำทดสอบว่าหลังเปิดน้ำยังหยดสม่ำเสมอดีหรือไม่ ตรวจเช็กให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะปูพลาสติกคลุมแปลง โดยถ้าเกษตรกรมีความประณีตในการดูแลรักษาและการจัดเก็บอุปกรณ์ อย่างพลาสติกคลุมแปลงที่ใช้แล้ว ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลายรอบ จนกว่าจะหมดสภาพไป ซึ่งวัสดุทุกอย่างคือต้นทุนการผลิต ถ้าเราใช้และเก็บรักษาอย่างดี อุปกรณ์นำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก ไม่ต้องซื้อใหม่ทุกครั้ง ซึ่งก็ต้องมาเสียเวลาและค่าแรงงานในการเจาะรูใหม่ นั้นก็จะเป็นการลดต้นทุนที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปลดต้นทุนในการดูแลบำรุงพืช

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/featured/article_9885

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 6 ม.ค.60
วันที่โพสต์: 6/01/2560 เวลา 10:09:26 ดูภาพสไลด์โชว์ อดีตมนุษย์เงินเดือน หันปลูกเมล่อนลงดินในโรงเรือน ทำ 1 รุ่น สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่