กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน

กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน

วันนี้ MThai News ในช่วง ‘เกษตรสร้างรายได้‘ขอพาทุกท่านไปพบกับการปลูก ‘กล้วยไม้‘ เพื่อสร้างรายได้ แน่นอนว่ากล้วยไม้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย เนื่องจากมีการเพาะเลี้ยงกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ประดับ และกล้วยไม้ตัดช่อเพื่อส่งขาย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นำไปตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงไว้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน

คุณพนม พึ่งสุขแดง หรือกำนันแวน เกษตรกรกล้วยไม้ใน ม.3 ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี มีประสบการณ์การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้มานานกว่า 23 ปี และยังรวมกลุ่มชาวบ้านละแวกใกล้เคียง และเครือข่ายอีกหลายจังหวัด จัดตั้งเป็นศูนย์ส่งกล้วยไม้ออกสู่ตลาดต่างประเทศรายใหญ่ของ จ.นนทบุรี ซึ่งวันนี้เราจะไปเรียนรู้เทคนิคดีๆ และช่องทางการตลาดจากการเพาะปลูก ‘กล้วยไม้’

กำนันแวน เปิดเผยว่าแต่เดิมมีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกข้าว ทำบ่อบัว และไม้ผลต่างๆ ซึ่งจุดเปลี่ยนมาจากเมื่อครั้งที่นำผลผลิตไปขายที่ปากคลองตลาด แล้วเห็นว่า ‘กล้วยไม้’ สามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นของที่ใช้บริโภคก็ตาม จึงเกิดแนวคิดที่จะพลิกผืนนาของตัวเองมาทำแปลง ‘กล้วยไม้’ อย่างเต็มตัวซึ่งเริ่มศึกษาและลงมือทำจริงจังเมื่อปี 2536

กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน

โดยแรกเริ่มกำนันแวนมีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน ได้ผลผลิตดี กล้วยไม้ออกดอกต่อเนื่องจนเริ่มสามารถออกจำหน่ายได้ แต่ก็ยังเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนัก จนมีโอกาสได้ไปสัมมนาด้านวิชาการเกษตร ที่ จ.สมุทรสาคร เรียนรู้การรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไม้ การวางรากฐานสู่ชุมชนในการรวมกลุ่มกันทำกล้วยไม้ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งการรวมกลุ่มนั้นกำนันแวนเผยว่า มีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่รับซื้อกล้วยไม้ ส่วนใหญ่จะมองกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ๆเท่านั้น หากเป็นเพียงแค่เกษตรกรระดับรากหญ้า ก็จะไม่สามารถเข้าถึงตลาดใหญ่ๆได้

ซึ่งเมื่อครั้งที่รวมตัวกับกลุ่มชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงประมาณ 10 ราย ทำกล้วยไม้ส่งออกโดยจะมีบริษัทเข้ามารับซื้อแต่ไม่ตลอดทั้งปี จนกระทั่งปี 2543 ได้เริ่มทำการแพ็คกิ้งทำเป็นช่อผลตอบรับดี มีหลายบริษัทเข้ามารับซื้อ ออร์เดอร์ส่งออกเริ่มมีจำนวนมากขึ้น แต่เมื่อปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้มีเกษตรกรกล้วยไม้หลายรายท้อ และยุบตัวลงไป โดยปัจจุบันนี้สามารถรวมเกษตรได้กว่า 80 ราย จาก 3 จังหวัดในเครือข่ายคือ นนทบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร มีพื้นที่ในการเพาะปลูกกว่า 1,500 ไร่ ออร์เดอร์การส่งออกนั้นจะอยู่ที่วันละประมาณ 100,000-200,000 ช่อต่อวัน

ส่วนสายพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงเพื่อจำหน่ายนั้นจะเป็นตระกูล ‘หวาย’ พันธุ์หวายโจแดง และหวายไม้ขาว 5N (5 เอ็น) โดยการปลูกกล้วยไม้จากต้นเล็กๆ จะใช้เวลาประมาณ 8-10 เดือน จะเริ่มมีดอกออกแล้ว การให้น้ำจะให้ในช่วงเช้าวันละครั้ง หากเป็นช่วงหน้าร้อนจะให้น้ำเป็นช่วงๆ เพื่อไม่ให้กล้วยไม้ร้อนจนเกินไปซึ่งจะส่งผลถึงการออกดอก

กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน

สำหรับการเพาะพันธุ์กล้วยไม้นั้นทางกลุ่มเกษตรกรของกำนันแวน จะใช้วิธีการ ‘ปั่นเนื้อ’ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ซึ่งเป็นการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่ง ที่จะได้คุณลักษณะพันธุ์เหมือนเดิม โดยจะนำเนื้อเยื่อจากส่วนต่างๆ ของกล้วยไม้มาเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ และควบคุมสภาพแวดล้อม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน ก็สามารถนำไปเพาะปลูกต่อได้แล้ว นี่จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิตได้

ทั้งนี้กล้วยไม้จะออกดอกตลอดและเต็มที่ในช่วงอายุระหว่าง 3 ปี ซึ่งหลังจากนั้นก็จะออกดอกน้อยลง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนชุดต้นกล้วยไม้ใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของโรคและศัตรูพืชของกล้วยไม้ที่พบเห็นบ่อยครั้ง จะเป็นพวก เพลี้ยไฟ ไรแดง โรคใบปื้นเหลือง

ในการเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่ายนั้นจะมีการส่งขายโดยแบ่งออกเป็น 4 ขนาด

1.ไม้ยาวไซส์ซุปเปอร์ ความสูงของก้านไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ดอกบานไม่ต่ำกว่า 5-6 ดอก ราคาขายจะอยู่ที่ช่อละ 3.50-4 บาท

2.ไม้ยาว ความสูงของก้านไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ดอกบานไม่ต่ำกว่า 5-6 ดอก ราคาขายจะอยู่ที่ช่อละ 3.50-4 บาท

3.ไม้ขั้นสวย ความสูงของก้านไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร ราคาขายจะอยู่ที่ช่อละ 3 บาท

4.ไม้สั้นสุด ความสูงของก้านไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร ราคาขายจะอยู่ที่ช่อละ 3 บาท

กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน

โดยราคาของดอกกล้วยไม้นั้นแต่ละช่วงเดือนจะมีราคาไม่เท่ากัน ช่วงที่ราคาเริ่มแพงคือเดือน ม.ค.-ก.พ. เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเทศกาลต่างๆ อาทิ วันปีใหม่ วันตรุษจีน ช่วงแพงที่สุดจะเป็นช่วง เม.ย.-พ.ค. เนื่องจากเป็นช่วงหน้าร้อน น้ำจะมีปริมาณน้อย ทำให้กล้วยไม้ออกดอกน้อยลงจึงทำให้เป็นช่วงที่ดอกกล้วยไม้ราคาสูงที่สุดและเป็นที่ต้องการของตลาดนอก และช่วงราคาถูกที่สุดคือ มิ.ย. เป็นต้นไป เนื่องจากดอกจะออกเต็มที่จนล้นตลาด ราคาขายต่อช่อจะเหลือที่ 50 สตางค์ ถึง 1.50 บาท เลยทีเดียว

“กำนันแวนยังบอกอีกว่า หากใครสนใจอยากเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง ควรศึกษาค้นคว้าและมีใจรักทางด้านนี้จริงๆ และควรทำอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ โดยต้องมีเงินลงทุนในการทำโรงเรือน ระบบน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ ต่อ 1 ไร่ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 แสนต่อไร่ กำนันแวนยังแนะนำอีกว่าเงินที่ลงทุนควรเป็นเงินที่ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินมา เนื่องจากหากไปกู้เงินจะทำให้เสี่ยงต่อการลงทุนอย่างมาก”

ส่วนรายได้จากการปลูกกล้วยไม้ในพื้นที่ 10 ไร่นั้น จะได้วันละ 1 หมื่นช่อ ภายใน 1 สัปดาห์ตัดดอกได้ประมาณ 2-3 ครั้ง ต่อเดือนแล้วจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 170,000-220,000 บาท โดยต้องเป็นช่วงที่กล้วยไม้ออกดอกเต็มที่ ปัจจุบันที่สวนกล้วยไม้ของกำนันแวนมีอยู่ประมาณ 80 ไร่ และจากการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่การเพาะปลูก 1,500 ไร่ สามารถส่งขายได้วันละ 100,000-200,000 ช่อต่อวัน จะสามารถสร้างเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านบาทต่อเดือนซึ่งบริษัทที่รับซื้อจะเป็นกลุ่มส่งออกประเทศจีน ฮ่องกง ไทเป และอินเดีย

กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน

ในอนาคตทางกลุ่มจะต่อยอดการส่งออกโดยจะตีตลาดโซนยุโรป เนื่องจากจะได้ราคาที่สูงกว่าโซนเอเชีย สำหรับทิศทางกล้วยไม้ในประเทศไทย กำนันแวนมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีมาก ตลาดยังมีการเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง จึงสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเกษตรกรกล้วยไม้ได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่าการรวมกลุ่มของเกษตรกรกล้วยไม้นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางการตลาดแล้ว ยังเป็นการผนึกกำลังของกลุ่มเกษตรกรได้เป็นอย่างดีทำให้ชาวสวนกล้วยไม้กลุ่มเล็กๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างยั่งยืน หากใครสนใจที่อยากจะลงทุนทำสวนกล้วยไม้ หรือเข้าร่วมกลุ่มเกษตรกล้วยไม้นนทบุรี สามารถติดต่อไปได้ที่เบอร์ 094-654-4991 (กำนันแวน)

ขอบคุณ... http://news.mthai.com/hot-news/economy-news/533376.html

ที่มา: mthai.com /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 พ.ย.59
วันที่โพสต์: 24/11/2559 เวลา 09:34:14 ดูภาพสไลด์โชว์ กำนันรวมกลุ่มชาวบ้านปลูก ‘กล้วยไม้’ ส่งออกสร้างรายได้สู่ชุมชน