พื้นที่ดินทรายไม่เป็นปัญหา สำหรับการปลูกพืช

พื้นที่ดินทรายไม่เป็นปัญหา สำหรับการปลูกพืช

นางวลัยลักษณ์ สุวรรณพงษ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ได้ลงพื้นที่แนะนำเกษตรกรบ้านบางมะนาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ ให้สามารถปลูกพืชผักในพื้นที่ดินทรายจัด เพื่อการบริโภคในครัวเรือน โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องจำนวน 5 ราย

ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของจังหวัดนราธิวาส จะเป็นดินทราย ที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช เนื่องจากมีอาหารพืชบริเวณหน้าดินน้อย และไม่เก็บน้ำ ทำให้พืชที่ปลูกมักจะไม่เจริญเติบโต และให้ผลผลิตที่ไม่คุ้มค่ากับการเพาะปลูก

และดินที่มีสภาพมีทรายปนมากกว่า 70% จะปลูกพืชได้ยากเพราะเวลาฝนทิ้งช่วงเกิดความแห้งแล้งก็จะแล้งมาก ดินอุ้มน้ำไม่ได้ หากน้ำท่วมก็ท่วมหนัก อย่างไรก็ตามพืชที่สามารถขึ้นและเติบโตได้ดีในดินทราย หรือดินร่วนปนทรายก็มีหลายชนิด หากแต่ต้องมีการปรับปรุงดินก่อนทำการเพาะปลูก

ขั้นต้นสังเกตหญ้าว่าขึ้นและเติบโตดีหรือไม่ เพราะหญ้าชนิดต่าง ๆ หาอาหารในหน้าดินระดับไม่ลึกมาก แสดงว่าดินยังมีแร่ธาตุอาหารอยู่ สภาพดินเช่นนี้ก็จะสามารถปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ปอเทือง ถั่วเขียว หรือพืชคลุมดินอื่น ๆ เช่น คาโลโปโกเนี่ยม เพอร์ราเรีย ได้

ส่วนการปรับปรุงดินทรายให้สามารถปลูกพืชได้นั้น เจ้าหน้าที่จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ แนะนำแก่เกษตรกรว่าขั้นต้นให้ใช้แกลบดิบหว่าน แล้วไถกลบ โรยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักตามอีกที หรือจะเลี้ยงวัวไว้ซักระยะหนึ่ง ให้มูลวัวผสมกับดินก่อน หลังจากนั้นค่อยปรับพื้นที่ทำการเพาะปลูก หน้าดินจะมีอาหารให้พืชพอแก่ความต้องการของพืช

ที่สำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการอุ้มน้ำไม่ดี จึงควรที่จะนำพืชคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นมาปลูกในพื้นที่ร่วมด้วยจะเป็นการแก้ปัญหาดินคายน้ำได้ในระดับหนึ่ง สำหรับพันธ์ุพืชที่จะปลูกในสภาพดินทรายนั้น ถั่วหรั่งหรือ ถั่วปันหยี ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ เป็นพืชที่ปลูกง่าย มีความทนแล้ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเช่นนี้ อย่างเช่น ถั่วหรั่งพันธุ์สงขลา 1 ซึ่งเป็นพันธ์ุแนะนำจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องของทางการไทย เป็นถั่วที่มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ประมาณ 120-130 วัน ให้ผลผลิตสูงประมาณ 400-700 กิโลกรัมต่อไร่

ซึ่งทางภาคใต้จะเรียกพืชชนิดนี้ว่า มันขี้หนู ปลูกในเขตพื้นที่ที่เป็นดินทราย มีหัวใต้ดินเล็กๆ ที่เกิดจากราก ประชาชนพื้นที่ภาคใต้นิยมนำมารับประทานด้วยการประกอบอาหารทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา เป็นต้น

ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/536731 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 พ.ย.59
วันที่โพสต์: 17/11/2559 เวลา 09:38:50 ดูภาพสไลด์โชว์ พื้นที่ดินทรายไม่เป็นปัญหา สำหรับการปลูกพืช