ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

‘เกษตรพอเพียง’ เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของประชาชนในเรื่องความเป็นอยู่ มีพระราชดำรัสแนวทางให้ทุกคนอยู่อย่างพอเพียง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พออยู่พอกิน ส่งผลให้ในช่วงหลายๆปีผ่านมา มีเกษตรกรหลายรายหันมาทำการเกษตรแบบพอเพียงมากขึ้น และปัจจุบันจำนวนของเกษตรกรที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่พระองค์ทรงมีพระเนตรอันกว้างไกลต่อประชาชนชาวไทยอันหาที่สุดไม่ได้

วันนี้ MThai News ขอพาทุกท่านไปพบกับคุณลุงเฉลียว อินทร์ชม อายุ 72 ปี เกษตรกร ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ที่ได้รับเลือกเป็น Smart Farmer ต้นแบบ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต้นแบบการลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงปลา โดยยึดหลักการทำ ‘เกษตรพอเพียง’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ลุงเฉลียวเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่บ้านทำนาข้าวก่อนเปลี่ยนมาทำบ่อบัว แต่เนื่องจากอายุมากแล้วจึงหันมาทำบ่อปลาอย่างเต็มตัวเนื่องจากการดูแลบ่อปลาไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก ประกอบกับต้นทุนการผลิตไม่สูง โดยในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่เศษของลุงเฉลียวสามารถปล่อยปลาได้ประมาณ 10,000 ตัว พร้อมกับปลูกพืชผลไว้ใช้สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

โดยขั้นตอนแรกนั้นการเตรียมบ่อปลาต้องขุดลึกขั้นต่ำประมาณ 1.5 เมตร หรือมากกว่านั้นได้ยิ่งดี ก่อนจะตากแดดให้แห้ง เพื่อให้แสงแดดฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่สะสมอยู่ภายในบ่อ เมื่อบ่อที่ขุดไว้แห้งแล้วก็ใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคอีกทางหนึ่ง หลังจากนั้นก็สามารถปล่อยน้ำเข้าสู่บ่อที่เตรียมไว้ได้ทันที

ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

ส่วนสายพันธุ์ปลาที่ฟาร์มของลุงเฉลียวจะเลี้ยง 2 ชนิดคือปลานิล และปลายี่สก เนื่องจากเป็นปลาที่ดูแลง่าย และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย โดยจะไปรับซื้อจากหน้าฟาร์มที่เพาะเลี้ยงอย่างละ 5,000 ตัว ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ซึ่งใช้เงินลงทุนค่าพันธุ์ปลาเพียง 3,500 บาท หลังจากนั้นต้องนำมาอนุบาลอีกประมาณ 1 เดือน โดยขั้นตอนนี้ลุงเฉลียวเน้นย้ำว่าควรดูแลเป็นพิเศษ

เนื่องจากปลายังอยู่ในช่วงเล็กๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรค โดยช่วงที่เหมาะสมแก่การปล่อยพันธุ์ลงสู่บ่อเลี้ยง ควรปล่อยในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งจะเป็นช่วงที่เข้าสู่หน้าร้อน เชื้อโรคต่างๆจะมีน้อย หากปล่อยในช่วงหน้าฝนลูกปลาจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหางขาวจะทำให้ปลาตายได้

เมื่อครบกำหนด 1 เดือนขนาดของปลาจะได้ประมาณ 2 นิ้ว ก็สามารถปล่อยลงสู่บ่อใหญ่ได้แล้ว ส่วนอาหารจะใช้ขี้ไก่ประมาณ 8 ถังต่อ 5 วัน โดยนำขี้ไก่บรรจุให้ในถัง 200 ลิตรที่ผ่าครึ่งแล้ว ก่อนนำลงไปปักไว้ตามจุดต่างๆ ของบ่อปลา พร้อมใช้ปักฟางข้าว เศษพืช อาทิหยวกกล้วย เพื่อลดต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการนำพืชผักที่ปลูกภายในสวนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกทางหนึ่ง

ซึ่งจะใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 8-10 เดือนก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว ส่วนราคาของปลานิล จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-35 บาท ปลายี่สกจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท หากคิดมูลค่าที่ปล่อยปลาไปประมาณ 10,000 ตัว สามารถสร้างรายได้ประมาณ 100,000 บาท หากเป็นช่วงที่ปลามีคุณภาพดีและมีน้ำหนักดี รายได้ก็จะพุ่งสูงขึ้นไปอีก ประกอบกับที่สวนของลุงเฉลียวมีการปลูกพืชชนิดอื่นๆด้วย มีทั้งอ้อย ต้นกล้วย ต้นมะละกอ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมอีกช่องทาง เป็นจำนวนเงินเกือบหมื่นบาทต่อเดือน

ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน

ลุงเฉลียวยังเปิดเผยอีกว่า การทำ ‘เกษตรพอเพียง’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีแต่ข้อดีทั้งสิ้น เป็นการทำเกษตรแบบพอเพียง พอดีไม่มากจนเกินตัวใช้จ่ายของที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งทุกวันนี้ลุงเฉลียวอยู่กับภรรยา 2 คน ไม่มีหนี้มีสิน “เท่านี้ก็เป็นความสุขของชีวิตที่เพียงพอแล้ว” ลุงเฉลียวกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้หากใครสนใจเยี่ยมชมฟาร์มเพื่อศึกษาหาความรู้ก็สามารถไปได้ที่ 1/2 หมู่ที่ 4 ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี โทร 086-808-7156

เรื่อง/ภาพ ธเนตร พุทธิตระกูล

ติดตามสกู๊ปข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com

MThai News

ขอบคุณ... http://news.mthai.com/hot-news/economy-news/529369.html

ที่มา: mthai.com /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 31 ต.ค.59
วันที่โพสต์: 3/11/2559 เวลา 09:41:29 ดูภาพสไลด์โชว์ ทำบ่อปลาผสมผสานแบบ ‘เกษตรพอเพียง’ สู่รายได้ที่ยั่งยืน