เนด้าลุ้นทล.เจรจาสปป.ลาว สร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5-6 หวังเชื่อมโลจิสติกส์/ท่องเที่ยว

เนด้าลุ้นทล.เจรจาสปป.ลาว สร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5-6 หวังเชื่อมโลจิสติกส์/ท่องเที่ยว

จับตาราคาที่ดินชายแดนเมืองดอกบัวและบึงกาฬพุ่ง รับแรงกระตุ้นรอบใหม่หลังเนด้าเตรียมจี้ทล.และกระทรวงคมนาคมเร่งหารือสปป.ลาวก่อสร้างเชื่อมโยงโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า รวมถึงเส้นท่องเที่ยวสู่เวียดนาม ลุ้นสะพานบึงกาฬ-ปากซันใช้งบสร้างกว่า 3,000 ล้าน ด้านเนด้ารุกให้ความช่วยเหลือลาว สร้างถนนเส้น R11,R12 งบกว่า 1,300 ล้านทั้งด้านด่านสตรึงบทในกัมพูชาเตรียมเปิดประมูลปลายปีนี้และเริ่มก่อสร้างปี 61 งบกว่า 900 ล้าน

เนด้ารุก 4 ประตูการค้าชายแดนเชื่อมโยง

นายเนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน)หรือ เนด้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนงานยังคงเน้นการเชื่อมโยงผ่านประตูการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ที่ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้นแล้วเสร็จ ได้แก่ เส้นทางก่อสร้างถนนสาย R11 เชื่อมจากด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วงจากบ้านคกเค้าดอ-บ้านน้ำสังข์ที่สามารถเชื่อมไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยเนด้าดำเนินการจากช่วงนครหลวงเวียงจันทน์-บ้านน้ำสังข์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งช่วงจากคกเค้าดอ-บ้านน้ำสังข์ ใช้งบราว 1,300 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการเร่งหารือร่วมกับสปป.ลาว คือโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5(บึงกาฬ-ปากซัน) และแห่งที่ 6 ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรอให้กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวง(ทล.)เจรจากับสปป.ลาว ในประเด็นการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละแห่ง ล่าสุดสะพานแห่งที่ 5 ทล.ศึกษาออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากใกล้กับสะพานที่หนองคายและนครพนมที่มีปริมาณรถยนต์ใช้เส้นทางเฉลี่ยใกล้เคียงกับประตูการค้าชายแดนอื่นๆในโซนพื้นที่นั้นๆ

“ส่วนพื้นที่โซนอุบลราชธานียังไม่มีสะพานข้ามไปยังสปป.ลาว ที่จะเชื่อมไปยังพื้นที่การเกษตรและแร่ต่างๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากอีกทั้งยังเชื่อมไปยังเวียดนามได้ด้วย ดังนั้นเมื่อกระทรวงคมนาคมสามารถตกลงเรื่องพื้นที่กับสปป.ลาวได้เร็วก็จะสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นเนื่องจากช่วงด่านจะแบ่งความรับผิดชอบกันฝั่งละครึ่งซึ่งฝ่ายไทยจะให้ความช่วยเหลือสปป.ลาวด้านสินเชื่อทางการเงิน”

นายเนวินกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเนด้ายังมีแผนดำเนินการสนับสนุนแหล่งทุนและด้านวิชาการโครงการก่อสร้างถนนเส้นทาง R12 จากเมืองท่าแขกของสปป.ลาวที่ปัจจุบันมีปริมาณรถยนต์ใช้บริการวันละประมาณ 120 คันเพื่อขนส่งผลไม้จากไทยส่งไปยังเวียดนาม เนื่องจากสภาพสองข้างทางสวยงามคล้ายเมืองกุ้ยหลินของจีนจึงน่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างมาก

“สำหรับเส้นทางสายนี้ ยังมีเส้นทางเชื่อมไปยังเขื่อนน้ำงึม 2 และมีโรงงานของปูนซิเมนต์ไทย โดยพบว่าจะมีเขาหินปูนเรียงรายสวยงามมาก โดยเฉพาะก่อสร้างเส้นทางจักรยานคู่ขนานกับเส้นทางหลักก็จะสร้างความโดดเด่นให้กับเส้นทางนี้ได้อย่างมาก ดังนั้นสปป.ลาวยังมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างมากมายแต่ยังขาดการสนับสนุนด้านเงินลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเท่านั้น”

สำหรับการเชื่อมกับกัมพูชานั้นขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ดำเนินการก่อสร้างสะพานและเส้นทางรถไฟไปยังด่านคลองลึกเสร็จแล้ว คาดว่าจะให้บริการได้ช่วงปลายปีนี้ เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างด่านที่สตรึงบทงบ928 ล้านบาท คาดจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างกัมพูชาเร่งเปิดประมูลหาผู้รับเหมาดำเนินการ

ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งออกแบบรายละเอียดเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป ซึ่งในปี 2560 นี้ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณไว้โดยคาดว่าใช้งบลงทุนประมาณ 3,640 ล้านบาทปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนด้านการลงทุนจากสปป.ลาว

“ส่วนเส้นทางในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานียังไม่ได้เริ่มดำเนินการศึกษา ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางนับเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกลุ่มอนุภาคตอนบน-ตอนกลาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ”

โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ฝั่งประเทศไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 จะมุ่งไปทางทิศตะวันตก ก่อนที่จะเลี้ยวขวามุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง แนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิม และตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 ก่อนจะเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งประเทศไทย และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 200 เมตร แนวเส้นทางจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทางจราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว ทางฝั่งตะวันตกของหนองง้า ไปสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ระยะทางรวมตลอดโครงการยาว 16.03 กิโลเมตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ขอบคุณ... http://www.thansettakij.com/2016/10/31/108616 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: thansettakij.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 31 ต.ค.59
วันที่โพสต์: 1/11/2559 เวลา 09:09:27 ดูภาพสไลด์โชว์ เนด้าลุ้นทล.เจรจาสปป.ลาว สร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5-6 หวังเชื่อมโลจิสติกส์/ท่องเที่ยว