จับตา!จุดเปลี่ยนยุทธศาสตร์รัฐบาล?(1)

จับตา!จุดเปลี่ยนยุทธศาสตร์รัฐบาล?(1)

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : จุดเปลี่ยนยุทธศาสตร์รัฐบาล? อนาคตประเทศที่ต้องจับตามอง (1)

คมชัดลึกออนไลน์ 7 ก.พ.2556

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : จุดเปลี่ยนยุทธศาสตร์รัฐบาล? อนาคตประเทศที่ต้องจับตามอง (1) : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com

นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งหลายคนอาจจะเรียกกันว่า “ประชานิยม” ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการขึ้นเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท โครงการบ้านหลังแรกและรถคันแรก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหลายคนคงอยากที่จะเห็นนโยบายระยะยาวที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน เพราะในกระแสโลกยุคปัจจุบัน ประเทศไทยจะต้องแข่งขันกับนานาประเทศ พร้อมทั้งต้องเตรียมตัวรองรับกับเหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงมากมาย

ผมมองว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและนำมาสู่ปัญหาอุปสรรคและความท้าทายของประเทศไทยนั้น สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ปัจจัยภายนอก ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยากคือ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมโลกที่ผันผวน เช่น ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่ผันผวนเข้ามากระทบกับประเทศไทย เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับการส่งออก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ เราก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

2.ปัจจัยภายใน ผมมองว่า ความท้าทายสำคัญของไทยในวันนี้คือการดำเนินนโยบายรัฐให้บรรลุผลเป็นไปตามเป้าหมาย เช่น ประเด็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นชัดแล้วว่า ระบบของการบริหารจัดการน้ำของไทยนั้น ยังต้องมีการบูรณาการอย่างแท้จริง ต้องเชื่อมโยงและเตรียมตัวกับปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ผมมองว่า ถ้าเราไม่ทำระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

ดังนั้น สิ่งที่เราคนไทยต้องคำนึงถึงในวันนี้ คือ โอกาสที่หายไป (Opportunity losses) ของประเทศ ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นสถาบัน IMD หรือสถาบัน WEF ได้ออกมาแล้วว่าประเทศไทยนั้นมีขีดความสามารถลดลง (ปี 2555 สถาบัน IMD ได้จัดอันดับขีดความสามารถของประเทศไทยอยู่ที่ 30 ลดลงจากอันดับ 27 ในปี 2554 และลดลงจากอับดับ 26 ในปี 2553) หมายความว่า ประเทศอื่นเขาพัฒนาไปแล้วไป แต่ประเทศไทยกลับแย่ลง

ถ้าดูตัวเลขจะเห็นว่าประเทศไทยเทียบกับมาเลเซีย ในวันนี้ไทยแข่งขันสู้กับมาเลเซียไม่ได้ ผมเชื่อว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งของขีดความสามารถไทยที่ลดลงมาจากการที่ประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่เรามีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเทียบไม่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวอย่างจริงจัง (สัดส่วนการลงทุนภายในประเทศลดลงจากร้อยละ 40 ของจีดีพี เหลือร้อยละ 22) ในวันนี้ เราลงทุนในระดับน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ จีน ที่มีสัดส่วนการลงทุนภายในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 25-40 ของจีดีพี

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 9/02/2556 เวลา 03:09:01