เศรษฐีสอนลูก

เศรษฐีสอนลูก

โดย : บุษกร ภู่แส

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 7 ก.พ.56

เรื่องราวของวิธีการเลี้ยงลูกว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เป็นลูก (เศรษฐี)ไม่เอาถ่านเมื่อโตขึ้น

เรื่องราวของวิธีการ เลี้ยงลูกว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เป็นลูก (เศรษฐี)ไม่เอาถ่านเมื่อโตขึ้น เพราะเขาไม่ต้องการให้ลูกได้รับการเลี้ยงดูอย่างลูกมหาเศรษฐีที่จะได้ทุก สิ่งทุกอย่างที่ต้องการ

จากประสบการณ์การเลี้ยงลูกของ“สมพงศ์ ดาวพิเศษ ” เจ้าของรีสอร์ตหรู บนเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี กับหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต บอกว่า การเลี้ยงดูลูกพ่อแม่แต่ละรายจะมีวิธีการเลี้ยงดูลูกแตกต่าง กันออกไปตามแต่ที่ตนเองจะเห็นว่าเป็นการเลี้ยงดูที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน แต่จากประสบการณ์ พบว่า การเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันเพราะไม่ว่าเด็กหรือ ผู้ใหญ่ต่างมีความคิดและเหตุผลเป็นของตนเองทุกคนย่อมไม่ต้องการ ให้ผู้อื่นมาบังคับหรือสั่งให้ปฏิบัติตาม

“วิธีเลี้ยงลูกควรจะปล่อยบ้าง ช่วยประคับประคองบ้างให้เขามีความคิดเป็นของตนเอง สามารถ แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับเราได้อย่างอิสระ และพร้อมที่จะยอมรับความคิดนั้น”

ฝึกให้ตัดสินใจ

ย้อนกลับไปสมัยลูกชาย ทั้ง 2 คน คือ ธิติพงศ์ และพีรพงศ์ ดาวพิเศษ อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ นั้นเขาได้วางกฏ 4 ข้อหลักที่ห้าม คือ หนึ่งต้องเรียน ไม่จำเป็นต้องเรียนได้ที่หนึ่ง แต่ห้ามสอบตก เพราะคนขยันไม่มีทางที่จะสอบตก สองห้ามคบเพื่อนชั่ว ตรงนี้บอกให้ลูกพิจารณาด้วยตรงเองว่า อะไรดีอะไรชั่ว เช่น เพื่อนเกเรไม่ควรคบ สามห้ามเล่นการพนันและยาเสพติด สี่ห้ามเป็นเอดส์ เป็นการสอนให้เขารู้จักป้องกันตนเอง เพราะเมื่อ 10ปีที่แล้วโรคนี้เป็นแล้วเสียชีวิต

“เราใช้วิธีตีกรอบเอาไว้คราวๆ หัดให้เขาเป็นคนรับผิดชอบ ตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น หน้าที่ การงาน การเงิน เป็นต้น ไม่ควรชี้แนะไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง”

สมพงศ์ มองว่า การที่พ่อแม่บางคนรับส่งลูกเช้าเย็น ยิ่งเป็นลูกสาว ยิ่งเข้มงวด ลูกจะไปไหนพ่อแม่จะไปด้วย ลูกคุยโทรศัพท์ใครคอยถามว่าคุยกับใคร อยากรู้ไปหมด สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้มากกว่า 50เปอร์เซนต์เสียคน เพราะเมื่อเขาได้รับอิสระมักจะโกหกพ่อแม่ มีอะไรก็ไม่มาปรึกษา ดังนั้นควรเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล อย่าเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ ตามใจในสิ่งที่ถูก ขัดใจในสิ่งที่ผิด ควรแสดงความชื่นชมเมื่อเขาทำดี ตำหนิหรือลงโทษ เมื่อเขาทำผิด

“อาจเป็นเรื่องที่ทำอยากสำหรับครอบครัวคนไทย ยกตัวอย่าง เวลาที่ใครมาเตะลูกผม ย่าเขาจะไม่ยอม ออกเข้ามาปกป้อง ผมไม่เห็นด้วยและเคยย้อยถามแม่ว่า ทำไมตอนผมเล็กๆ เวลาทำผิดแม่ถึงให้คุกเข่าหรือตีให้สำนึกผิดละ แม่ได้แต่หัวเราะ แบบนี้ก็ต้องระวังเหมือนกัน”

เลี้ยงให้เอาถ่าน

บทบาทความเป็นพ่อของลูกชายทั้ง 2 คน คือ ธิติพงศ์และพีรพงศ์ ดาวพิเศษ ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการเต็มตัว ไม่ได้จบลง แม้ว่าลูกชายจะโตเรียนจบหรือแต่งงานมีครอบครัว เพราะทุกวันนี้คุณสมพงศ์ยังคงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลลูกชายสองคนอยู่ เสมอ

สมพงศ์ ยอมรับว่า ในแง่จิตวิทยา พ่อแม่ มักคิดอยู่เสมอว่า ลูกยังเด็กและต้องการความช่วยเหลือทั้งที่จริงแล้ว เขาสามารถแก้ปัญหาเองได้ แต่เพราะความเป็นพ่อ แม่ย่อมห่วงลูกไปหมด แม้ว่าเขาจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่ไม่ยอมปล่อยให้ลูกเรียนรู้ที่ช่วยเหลือตนเอง เท่าที่ควรผิดกับคนตะวันตกที่ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ที่ใช้ชีวิตตนเองตั้ง แต่ไฮสคูล ทำให้เด็กมีความคิดเป็นอิสระ กล้าตัดสินใจ สำหรับเขาใช้วิธีผสมผสานระหว่างการเลี้ยงแบบไทยกับตะวันตก เช่น ถ้าลูกทำผิดก็จะอบรมสั่งสอน หรือแม้จะมีการลงโทษก็จะชี้แจงความผิดก่อน และไม่ลงโทษด้วยอารมณ์พร้อม ทั้งให้โอกาสลูกที่จะชี้แจงเหตุผลของตนด้วย การเลี้ยงดูลูกแบบนี้พ่อแม่จะไม่เข้มงวดเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยลูกจนเกินไป พ่อแม่จะไม่ถือว่าลูกเป็นเด็กเล็ก ๆ ตลอดเวลา แต่จะให้ลูกมีโอกาสแสดงความสามารถและยอมรับในเหตุผลของลูก ถ้าเห็นว่า เป็นเหตุผลที่ดี

"แนวทางการสอนปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ยกตัวอย่าง การฝึกความรับผิดด้วยการนัดประชุมเช้าเพื่อบังคับทางอ้อมให้ตื่นทำงานแต่ เช้า เพราะ ถ้ามาสายเขาต้องอายลูกน้อง เราไม่ต้องไปตักเตือนอะไร

หรืออาจ ใช้วิธีการเล่า ลูกอาจเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะตอกย้ำให้เขาเชื่อในสิ่งที่เราเล่าให้เขา ฟัง กรณีทำผิด ถ้าอยู่ต่อหน้าคนอื่นเราไม่ไปดุเขา แต่ถ้าอยู่กันพ่อแม่ลูกค่อยคุย แต่จะไม่ใช้เวลานาน เพราะจะการเป็นการสร้างความกดดันโดยไม่จำเป็น"

สมพงศ์บอกว่า ในฐานะพ่อ ได้แต่วางแนวทางไว้ให้ลูก แต่ไม่ได้คาดว่าลูกจะทำต่อหรือไม่ เพราะต่อให้เป็นพ่อลูกกัน พี่น้องกันไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหมด ถ้าเขาไม่ทำต่อธุรกิจที่มีอยู่ก็ขายทิ้ง เพราะอยากสนับสนุนให้เขาได้ทำงานที่เขาถนัด เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ลูกๆ กดดันตนเองเพื่อวัดรอยเท้าพ่อ ลูกควรทำสิ่งที่ตัวเองถนัด และสิ่งที่รักเพราะความสุขในชีวิตคือการทำในสิ่งที่ตัวเองรักออกมาดี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่โพสต์: 7/02/2556 เวลา 04:25:57